แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นส่วนหนึ่งของของสัญญาจ้างแรงงานนั้นนอกจากจะเกิดขึ้นได้โดยการตกลงกันโดยชัดแจ้งจากการแจ้งข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 13 แล้ว ยังอาจเกิดขึ้นได้โดยปริยายอีกด้วย เมื่อธนาคารนายจ้างออกข้อบังคับเกี่ยวกับเงินเดือนและการแต่งตั้งพนักงานใช้บังคับอยู่แล้วและภายหลังลูกจ้างผู้นั้นเข้ามาเป็นพนักงานก็ได้มีคำสั่งแก้ไขข้อบังคับนั้นในเวลาต่อมา โดยแก้บัญชีอัตราเงินเดือนให้มีขั้นเงินเดือนครึ่งขั้นและแก้ไขให้ผู้จัดการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานไปดำรงตำแหน่งอื่นในระดับที่ต่ำกว่าเดิมได้ พนักงานทุกคนก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและยอมรับเอาผลจากการแก้ไขข้อบังคับด้วยดีตลอดมา ทั้งสัญญาจ้างแรงงานก็เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ ข้อบังคับที่แก้ไขแล้วดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับแก่ลูกจ้างผู้นั้นด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้าร่วมกันกระทำละเมิดโจทก์โดยแกล้งตรวจสอบและออกหนังสือเตือนโจทก์ว่าประพฤติไม่เหมาะสม ทั้งได้ลดตำแหน่งโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและตำแหน่งของโจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้โดยชอบที่จำเลยไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์จึงไม่เป็นละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายโบนัสพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ไว้ดังนี้ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องอยู่ใต้บังคับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 การที่จำเลยที่ 1 แก้ไขข้อบังคับว่าด้วยบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายข้อบังคับฉบับที่ 3 แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกัการลดระดับพนักงาน ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 และการแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ข้อบังคับที่จำเลยที่ 1 แก้ไขจึงไม่สามารถนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ บัญชีอัตราเงินเดือนที่ใช้การเลื่อนเงินเดือนแบบ 0.5 ขั้นและการที่จำเลยที่ 3 ในฐานะทำการแทนจำเลยที่ 2 ออกคำสั่งแต่งตั้งโดยลดระดับโจทก์โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 6 วรรคสอง แห่งข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 จึงไม่มีผลนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 3 ว่าด้วยอัตราตำแหน่งและเงินเดือนสำหรับพนักงาน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3) ซึ่งกำหนดบัญชีอัตราเงินเดือน บัญชีหมายเลข 2 ที่กำหนดขั้นเงินเดือนขั้นละครึ่งขั้นก็ดี ข้อบังคับฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือนและการถอดถอนสำหรับพนักงาน (แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 5) ที่ให้ผู้จัดการแต่งตั้งพนักงานไปดำรงตำแหน่ที่ต่ำกว่าระดับเดิมได้ตามที่เห็นสมควรก็ดี เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจริงดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้ แท้จริงก็คือส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบอาจเกิดขึ้นได้โดยการตกลงกันระหว่างคู่สัญญาคือนายจ้างและลูกจ้าง การแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 กำหนดให้นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบก็เพื่อจะได้ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ซึ่งมาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ได้วางแนวทางในการปฏิบัติระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้เกิดมีการตกลงกันไว้แล้ว อย่างไรก็ดี การตกลงอันจะก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นหาได้จำกัดเฉพาะการตกลงโดยชัดแจ้งไม่อาจมีการตกลงกันโดยปริยายก็ได้ ได้ความว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2513 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับต่าง ๆ อยู่แล้วมากมาย รวมทั้งข้อบังคับที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอันเป็นมูลแห่งคดีนี้ด้วย ข้อบังคับเหล่านี้เป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง โจทก์จึงต้องอยู่ใต้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 นั้น ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 3 ว่าด้วยอัตราตำแหน่งและเงินเดือนสำหรับพนักงาน (แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3) โดยแก้บัญชีอัตราเงินเดือนหมายเลข 2 เป็นให้มีขั้นเงินเดือนครึ่งขั้น และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2522 แต่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้แก้ข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือนและการถอดถอนสำหรับพนักงาน (แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3) โดยในกรณีจำเป็นให้ผู้จัดการแต่งตั้งพนักงานไปดำรงตำแหน่งอื่นในระดับที่ต่ำกว่าระดับเดิมได้ไม่เกินกว่าหนึ่งระดับ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2522 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แก้ข้อบังคับฉบับดังกล่าวอีกเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 โดยให้ผู้จัดการสามารถแต่งตั้งพนักงานให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่ต่ำกว่าระดับเดิมได้ และได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2523 ปรากฏว่าในการที่จำเลยที่ 1 แก้ไขข้อบังคับต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ลูกจ้าของจำเลยที่ 1 ทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย หาได้ทักท้วงหรือโต้แย้งคัดค้านไม่ ตรงกันข้ามกลับยอมรับเอาผลจากการแก้ไขข้อบังคับมาด้วยดีตลอดมา จึงมีผลใช้บังคับแก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ
พิพากษายืน.