คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องขอให้แบ่งมรดกตามสัญญาแบ่งมรดกนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อผู้รับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญแล้ว จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่แต่ในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกซึ่งมิใช่ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาแบ่งมรดกนั้น จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยได้แบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้ จำเลยชอบที่จะนำสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้ของตนได้

ย่อยาว

โจทก์เป็นมารดานางหรุ่ม ภริยาจำเลย นางหรุ่มวายชนม์แล้วโจทก์จึงฟ้องขอแบ่งมรดกนางหรุ่มจากจำเลย

จำเลยต่อสู้ว่าทรัพย์บางอย่างไม่ใช่มรดก ที่เป็นมรดกก็ได้ตกลงแบ่งมรดกกับโจทก์ ต่างได้เอาทรัพย์ไปแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่า การแบ่งมรดกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จะรับฟังพยานบุคคลไม่ได้

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 1750 การแบ่งทรัพย์มรดกนั้นอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้ว เอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แต่ถ้าการแบ่งปันมิได้ทำตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ได้ทำโดยสัญญาแล้ว จะฟ้องร้องคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสือ

คดีนี้มิใช่เรื่องฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาแบ่งมรดกแต่เป็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยได้แบ่งมรดกเสร็จสิ้นแล้วจำเลยชอบที่จะนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อต่อสู้ได้ ส่วนข้อเท็จจริงเห็นอย่างศาลชั้นต้น จึงพิพากษายืน

Share