คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั้น เป็นเรื่องเพิกถอนการโอนตามสิทธิที่มีอยู่ แต่ทำให้เจ้าหนี้ที่เสียเปรียบ ถ้าเป็นการโอนทรัพย์ที่ผู้โอนไม่ใช่เจ้าของเป็นการโอนโดยปราศจากอำนาจการเพิกถอนไม่จำต้องทำการใน1 ปี ตาม มาตรา 240

ย่อยาว

ผู้ตายซื้อที่ดินครอบครองมากว่า 10 ปี แต่มิได้โอนโฉนด แล้วทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ ผู้ตายตายแล้ว จำเลยลอบเอาโฉนดให้บุตรผู้ตายลงชื่อรับมรดกแล้วโอนให้จำเลย โดยจำเลยทราบข้อกำหนดพินัยกรรมดี โจทก์จึงฟ้องขอให้ทำลายการโอน และให้แสดงกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยต่อสู้ข้อเท็จจริงและอ้างข้อกฎหมายในชั้นฎีกาว่าคดีขาดอายุความ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 เพราะโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการโอน ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้ลงชื่อโจทก์ตามส่วนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยข้อวินิจฉัยดังนี้ ฯลฯ “ที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 240 เรื่องการเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลโดยโจทก์รู้ถึงการที่จำเลยรับโอนมาเกิน 1 ปีแล้วนั้น เห็นว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวหาใช่เป็นนิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉลตามมาตรา 237 ไม่ เพราะตามบทมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องการโอนตามสิทธิที่มีอยู่ หากแต่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่คดีนี้ ที่พิพาทไม่ใช่ของนายถม นายพุด นางกลม นายหลาบผู้ทายาทย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกและโอนให้จำเลยได้ การโอนรายนี้จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ จะยกอายุความตามมาตรา 240 มาบังคับแก่คดีนี้หาได้ไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นจึงพิพากษายืน”

Share