คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันมีใจความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ฉ้อโกงโจทก์จริงและยอมใช้เงินให้โจทก์จำเลยที่ 2มารดาจำเลยที่ 1 ยอมค้ำประกันเมื่อจำเลยที่ 1 บิดพลิ้วยินดีรับใช้แทนจนครบ โจทก์ผู้กล่าวหายินดีและตกลงดังนี้ แม้จะมิได้มีข้อความแจ้งชัดว่าจะไม่ฟ้องในทางอาญา ก็เป็นที่เข้าใจกันตามปกติว่า การที่จำเลยที่2 เข้าค้ำประกันรับใช้เงินแทนจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรก็ประสงค์ให้โจทก์งดเว้น ไม่ฟ้องบุตรจำเลยที่ 2 ทางอาญา ฉะนั้นแม้จำเลยจะผิดนัด ไม่ใช้หนี้ตามกำหนดในสัญญา ก็ไม่ทำให้โจทก์เกิดสิทธิฟ้องทางอาญาได้เมื่อโจทก์ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในทางอาญา จึงไม่เป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำให้ไว้ จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ 2 คราวรวม 25,000 บาท โดยจะนำไปเสียภาษีและค่าใบอนุญาตนำข้าวออกนอกประเทศ ครั้นครบกำหนดนายเดวิดผิดนัดและไม่คืนเงินให้โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจ นางฟาดซิสจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ได้เข้าค้ำประกันใช้หนี้ให้โจทก์ 20,000 บาท ตามสำเนาบันทึกตกลงประนีประนอมและค้ำประกันท้ายฟ้องแล้วจำเลยผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว จำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืน 20,000 บาทกับดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและชั้นพิจารณา

จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีหลายประการและอ้างว่า โจทก์ว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญา แต่โจทก์ได้เป็นโจทก์ร่วมกับอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีอาญา ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา สัญญาจึงเป็นอันยกเลิก

ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 20,000 บาท กับดอกเบี้ย ถ้าไม่ใช้ ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว สัญญาค้ำประกันมีใจความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ฉ้อโกงโจทก์ไปจริง และยอมรับใช้ให้โจทก์ผู้กล่าวหายินดีและตกลงกับจำเลยที่ 2 มารดาจำเลยที่ 1 ยอมค้ำประกันเมื่อจำเลยที่ 1 บิดพลิ้ว ยินดีใช้แทนจนครบ

ข้อความในสัญญานี้ แม้จะมิได้มีข้อความแจ้งชัดว่าจะไม่ฟ้องทางอาญา แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันตามปกติว่า การที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันรับเงินใช้แทนจำเลยที่ 1 ก็ประสงค์จะมิให้บุตรต้องถูกฟ้องในทางอาญา และการที่จำเลยผิดนัดไม่ใช้หนี้ตามกำหนดในสัญญา ก็ไม่ทำให้โจทก์เกิดสิทธิฟ้องร้องในทางอาญาได้ฉะนั้นการที่โจทก์ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 ในทางอาญา จึงผิดความประสงค์อันแท้จริงของสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำให้ไว้จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด

จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2

Share