คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4035/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกจับกุมเพราะคำซัดทอดของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคนร้ายด้วยกัน หาใช่เพราะการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็ตาม แต่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกลักนั้น จำเลยทั้งสามร่วมกันแยกชิ้นส่วนออกและเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมตรวจค้นพบยังสถานที่ซึ่งตรงกับที่จำเลยที่ 1 บอกประกอบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนในความผิดลักทรัพย์โดยให้การเป็นขั้นเป็นตอนว่าได้แบ่งหน้าที่กันทำอย่างไรในการลักรถจักรยานยนต์ยากที่พนักงานสอบสวนจะแต่งเรื่องขึ้นเอง น่าเชื่อว่าให้การรับสารภาพไปตามความจริงที่เกิดขึ้นและด้วยความสมัครใจ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปชี้จุดทิ้งโครงตัวถังรถ ดังนี้ จึงนำคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มารับฟังประกอบคำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมกับพนักงานสอบสวนตลอดจน พยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 58, 83, 335(1)(7)(8), 336 ทวิ, 357 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์จำนวน 58,124.95 บาท แก่ผู้เสียหายกับให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสามในคดีนี้และให้ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร4 ล – 3002 ที่ใช้ในการกระทำผิด

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหารับของโจร แต่ปฏิเสธข้อหาลักทรัพย์และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้คืนชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์4 รายการที่ประกอบติดอยู่ที่รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 4 ล – 3002 แก่ผู้เสียหาย ส่วนประกอบของรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวนอกจากนั้นคืนแก่เจ้าของคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก,83 จำคุกคนละ 3 ปี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม เป็นจำคุกคนละ 2 ปี บวกกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1465/2540 และ 1464/2540 ของศาลชั้นต้นอีกคนละ 6 เดือน รวมเป็นโทษจำคุกทั้งสิ้นคนละ 2 ปี 6 เดือน และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนรถจักรยานยนต์แก่ผู้เสียหาย ยกเว้นเครื่องรถจักรยานยนต์ถังน้ำมันและตัวถังรถจักรยานยนต์ซึ่งผู้เสียหายได้รับคืนแล้ว หากคืนรถจักรยานยนต์ไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ราคาแทน โดยให้หักราคาเครื่องรถจักรยานยนต์ถังน้ำมันและตัวถังรถจักรยานยนต์ออกจากราคา 58,124.95 บาท ด้วย ส่วนข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าก่อนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกจับกุมประมาณ 1 สัปดาห์ รถจักรยานยนต์คันตามฟ้องซึ่งนายพิชัย จั่นถลา ผู้เสียหายเช่าซื้อมาถูกคนร้ายลักไปจากบ้านพัก ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 พันตำรวจตรีวัชรินทร์ ประสพดีกับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 ก่อน แล้วจึงจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ในวันเดียวกันนั้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีวัชรินทร์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมว่า เมื่อจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย พันตำรวจตรีวัชรินทร์จึงขอออกหมายค้นบ้านจำเลยที่ 1 กับบ้านจำเลยที่ 2 และที่ 3 พบชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่บ้านจำเลยที่ 1 แล้วจึงไปค้นบ้านจำเลยที่ 2และที่ 3 พบรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์รายอื่นที่บ้านจำเลยที่ 2ส่วนที่บ้านจำเลยที่ 3 ไม่พบรถจักรยานยนต์หรือชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นำพันตำรวจตรีวัชรินทร์ไปค้นหาชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่อ้างว่านำไปทิ้งไว้ในคลองภาษีเจริญปรากฏว่าพบโครงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์คันอื่นอีกหลายรายการที่ได้จากการลักทรัพย์รายอื่น เห็นว่า แม้จะได้ความจากพันตำรวจตรีวัชรินทร์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนร้ายด้วยกัน หาใช่เพราะการสืบสวนของพันตำรวจตรีวัชรินทร์ก็ตาม แต่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกลักจำเลยทั้งสามร่วมกันแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ออก และพันตำรวจตรีวัชรินทร์ได้ตรวจค้นพบยังสถานที่ซึ่งตรงกับจำเลยที่ 1 บอก ประกอบกับในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างให้การรับสารภาพต่อร้อยตำรวจโทกฤษ สถานสุข พนักงานสอบสวนในความผิดฐานลักทรัพย์ โดยให้การเป็นขั้นเป็นตอนว่าในการลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้แบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร ปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ย่อมเป็นการยากที่พนักงานสอบสวนจะแต่งเรื่องขึ้นเองน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและด้วยความสมัครใจ ประกอบกับพันตำรวจตรีวัชรินทร์ผู้จับกุมได้เบิกความยืนยันตอนหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1นำพันตำรวจตรีวัชรินทร์ไปชี้จุดทิ้งโครงตัวถังรถจักรยานยนต์ที่คลองภาษีเจริญตามบันทึกการจับกุม เมื่อไม่ปรากฏว่าพันตำรวจตรีวัชรินทร์พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมและร้อยตำรวจโทกฤษซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน พยานโจทก์ทั้งสองต่างเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ต้องรับโทษเช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากคำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับโทษน้อยลง จึงนำคำซัดทอดนั้นมารับฟังประกอบคำเบิกความของพันตำรวจตรีวัชรินทร์ผู้จับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับร้อยตำรวจโทกฤษพนักงานสอบสวนตลอดจนพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันเป็นคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนดังฟ้องข้อต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ฟังไม่ขึ้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันรับของโจรนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1465/2540 และ 1464/2540 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีนี้นั้น เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9540/2541 ให้บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าวแล้ว จึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะนำโทษของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าวมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2และที่ 3 ในคดีนี้อีก”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสอง ให้ยกคำขอให้บวกโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share