แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บันทึกข้อตกลงค่าจ้างว่าความที่ระบุว่า ค่าทนายตกลงกันตามสมควรภายหลังจากศาลชั้นต้นตัดสินหรือประนีประนอมยอมความนั้น คำว่า ตามสมควรย่อมหมายถึงไม่ได้กำหนดจำนวนแน่นอนว่าเป็นเท่าใด แต่ให้กำหนดโดยคำนึงถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องและความยากง่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและการงานที่โจทก์ได้ปฏิบัติไปแล้วในการว่าความให้จำเลยด้วย ซึ่งเมื่อทั้งโจทก์และจำเลยมิได้มีข้อตกลงกำหนดจำนวนเงินไว้ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกันแล้วก็ต้องถือเอาจำนวนพอสมควรเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาค่าจ้างว่าความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาและมีการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม2533 แต่มีการอุทธรณ์อยู่ แสดงว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ว่าความในชั้นอุทธรณ์ด้วย สิทธิเรียกร้องค่าว่าความของโจทก์จึงยังไม่เริ่มนับ ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 แล้ว จำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้แก้ฎีกาให้จำเลย สิทธิเรียกร้องค่าจ้างว่าความจึงเริ่มนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 จึงไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(16)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความฟ้องนางสาววรรษกร ภิญโญสินวัฒน์ กับพวกจำเลยต่อศาลแพ่งเรื่องผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดิน จำนวนทุนทรัพย์ 2,000,000 บาท โดยทำบันทึกกำหนดค่าใช้จ่ายในศาลชั้นต้นไว้ส่วนค่าทนายความตกลงกันตามสมควร หลังจากศาลชั้นต้นตัดสินคดีหรือประนีประนอมยอมความในศาลชั้นต้น และต่อมาในวันยื่นฟ้องคดีจำเลยรับรองว่าเมื่อชนะคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลใดศาลหนึ่ง หรือประนีประนอมยอมความในศาลชั้นต้นจะจ่ายค่าทนายความให้โจทก์ร้อยละสิบหรือ 200,000 บาท จากทุนทรัพย์ที่ฟ้อง คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชนะคดี แต่ในชั้นฎีกาจำเลยนำคดีไปให้ทนายความคนอื่นทำเรื่องแก้ฎีกาให้ โจทก์จึงได้ทวงถามจำเลยให้ชำระค่าจ้างว่าความจำนวน 202,900 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในจำนวน 200,000 บาท นับแต่วันบอกกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 3,750 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 203,750 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 203,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความตามฟ้องจริงแต่ไม่ได้ตกลงกับโจทก์เรื่องค่าจ้างว่าความตามบันทึกท้ายฟ้องหมายเลข 7 คงตกลงค่าจ้างว่าความในศาลชั้นต้นในราคา 50,000 บาท ในชั้นอุทธรณ์ในราคา 20,000 บาท และจำเลยได้ชำระค่าจ้างว่าความให้โจทก์ครบถ้วนทั้งสองศาลแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน 2 ปี นับตั้งแต่ศาลชั้นต้นตัดสินในวันที่ 27 ธันวาคม 2533 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความในคดีที่จำเลยฟ้องนางสาววรรษกร ภิญโญสินวัฒน์ กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในจำนวนทุนทรัพย์2,029,583.26 บาท ตามสำเนาคำฟ้องในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22985/2533 เอกสารหมาย จ.3 โดยตกลงค่าจ้างว่าความกันตามสมควรดังที่ปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.16 ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี แต่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชนะคดีตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.12 ต่อมาฝ่ายจำเลยในคดีดังกล่าวฎีกา แต่จำเลยให้ทนายความคนอื่นทำคำแก้ฎีกา ตามสำเนาคำแก้ฎีกาเอกสารหมาย จ.15 ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2536 โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์ตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.17 และ จ.18
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ ปัญหานี้ในเบื้องต้นเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยตกลงให้ค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เท่าใด โจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยยอมรับว่าบันทึกเอกสารหมาย จ.16 เป็นบันทึกข้อตกลงค่าจ้างว่าความกันตามสมควรแล้ว เมื่อจำเลยให้โจทก์ว่าความในชั้นอุทธรณ์ต่อไปแล้วย่อมถือว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมรับข้อตกลงในบันทึกในตอนท้ายของบันทึกเอกสารหมาย จ.16 ที่บันทึกด้วยหมึกสีเข้มที่ว่า “ค่าทนาย 10% จากยอดฟ้อง (หรือเหมา 200,000 บาท) จ่ายเมื่อศาลใดศาลหนึ่งตัดสินให้โจทก์ชนะคดี…” ตามที่โจทก์ได้บันทึกไว้และโจทก์ได้นำสืบถึงสาเหตุในการบันทึกข้อตกลงนี้แล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยนำสืบลอย ๆ ถึงข้อตกลงค่าจ้างว่าความในศาลชั้นต้น 50,000 บาท และในศาลอุทธรณ์ 20,000 บาท เห็นว่า ในบันทึกเอกสารหมาย จ.16 ระบุว่า “ค่าทนายตกลงกันตามสมควรภายหลังจากศาลชั้นต้นตัดสินหรือประนีประนอมยอมความ” ซึ่งคำว่า “ตามสมควร” นี้ย่อมหมายถึงไม่ได้กำหนดจำนวนแน่นอนว่าเป็นเท่าใด แต่ให้กำหนดโดยคำนึงถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องและความยากง่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและการงานที่โจทก์ได้ปฏิบัติไปแล้วในการว่าความให้จำเลยด้วย ซึ่งเมื่อทั้งโจทก์และจำเลยมิได้มีข้อตกลงกำหนดจำนวนเงินไว้ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกันแล้วก็ต้องถือเอาจำนวนพอสมควรเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาค่าจ้างว่าความ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงคดีดังกล่าวที่มีการฟ้องจำเลย 2 คน ในทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง และค่าเสียหายที่เรียกร้องรวมเป็นเงิน 2,029,583.26 บาทแล้ว ค่าจ้างว่าความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์น่าจะเป็นค่าจ้างในจำนวนที่พอสมควร ซึ่งเมื่อเทียบเป็นอัตราค่าว่าจ้างแล้วควรเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนทุนทรัพย์ 2,029,583.26 บาทที่ฟ้องดังกล่าวนั้น คือเป็นจำนวน 101,479.16 บาท ไม่ถึงกับเป็นอัตราร้อยละ 10 ของทุนทรัพย์จำนวน 2,029,583.26 บาท ที่โจทก์ได้บันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.16 ตอนล่างนั้น เพราะเป็นจำนวนที่สูงเกินสมควรไปและเป็นจำนวนที่จำเลยไม่ได้ตกลงด้วย เพราะถ้าหากจำเลยตกลงด้วยแล้วจำเลยคงได้ลงลายมือชื่อในบันทึกนี้ไว้ด้วย ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมตามบันทึกในเอกสารหมาย จ.16 ตอนล่างนี้เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าว่าความให้โจทก์เป็นเงิน 101,479.16 บาท…
ปัญหาต่อไปนี้ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าว่าความจากจำเลยเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชนะคดี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 13 มกราคม 2537 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่าแม้ศาลชั้นต้นพิพากษาและมีการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533ก็ตาม แต่คดีมีการอุทธรณ์อยู่แสดงว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ว่าความในชั้นอุทธรณ์ด้วยสิทธิเรียกร้องค่าว่าความของโจทก์จึงยังไม่เริ่มนับ ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 แล้วจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้แก่ฎีกาให้จำเลย สิทธิเรียกร้องค่าจ้างว่าความจึงเริ่มนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม2537 จึงไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(16) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 31,479.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์