คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4032/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอ้างเหตุหลายประการรวมทั้งอ้างว่าจำเลยไม่อ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างและไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้าด้วย จำเลยให้การว่า ก่อนเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว ในคำบอกกล่าวได้ระบุชัดแจ้งว่าเหตุที่เลิกจ้างนั้นเนื่องจากโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพตามที่จำเลย ให้การต่อสู้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นพิพาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและมิได้อ้างเหตุเลิกจ้าง ทั้งมิได้สอบสวนโจทก์ตามระเบียบ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากศาลเห็นว่าโจทก์ไม่อาจทำงานร่วมกับจำเลยต่อไปได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินสะสม และให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดีหลายประการ รวมทั้งต่อสู้ว่าก่อนเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้บอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว และคำบอกกล่าวได้ระบุเหตุว่าเนื่องจากโจทก์หย่อนสมรรถภาพการทำงานจึงไม่ต้องมีการสอบสวนทางวินัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า งานรวบรวมคำพิพากษาฎีกาคดีแรงงานที่จำเลยที่ 4 มอบหมายให้โจทก์ มิใช่เป็นงานของฝ่ายการพนักงานแต่เป็นงานของส่วนอำนวยการพนักงาน และเป็นงานที่ไม่น่ามอบหมายให้พนักงานให้ฝ่ายการพนักงานทำ การที่โจทก์ไม่มีผลงานในช่วงแรกและการที่ผลการประเมินผลงานของโจทก์ในช่วงหลังต่ำกว่ามาตรฐานยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพตามที่จำเลยให้การต่อสู้ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้างคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมโดยอ้างเหตุหลายประการ รวมทั้งอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่อ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างและไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้าด้วย จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ก่อนเลิกจ้างโจทก์จำเลยที่ 1 ได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว ในคำบอกกล่าวได้ระบุชัดแจ้งว่าเหตุที่เลิกจ้างนั้นเนื่องจากโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพตามที่จำเลยให้การต่อสู้ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นพิพาท
พิพากษายืน.

Share