คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้า แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 อันเป็นธุรกิจทางการค้าตามปกติของโจทก์ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาการใช้ไฟฟ้า โดยมีการสลับสายนิวตรอนทางด้านเข้าเครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้า และสร้างสายดินพิเศษภายในบ้านนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องปรับอากาศ มีผลทำให้เครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปเพิ่มอีกร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็หาใช่เป็นการเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระไม่ แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยถือเอาค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปมาเป็นค่าสินไหมทดแทน จึงไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ที่ต้องฟ้องต่อศาลภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 142,342.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 142,342.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 มีนาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าบ้านเลขที่ 301/665 หมู่บ้านกิตตินิเวศน์ ซอยสุภาพงษ์ 2 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จากบริษัทเกียรติวัฒน์แลนด์ จำกัด โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระค่าไฟฟ้าให้แก่โจทก์จนกว่าจะบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบ และจะปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการของโจทก์ ประมาณเดือนมีนาคม 2544 จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองบ้านและเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าว ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่า มีการสลับสายที่ด้านเข้าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าและสร้างสายดินพิเศษภายในบ้าน โดยนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องปรับอากาศเป็นผลทำให้เครื่องวัดดังกล่าวแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง อันเป็นการผิดข้อบังคับของโจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมชำระค่าเบี้ยปรับเป็นเงิน 5,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ยังตรวจสอบพบว่า เครื่องวัดดังกล่าวแสดงผลการใช้ลดลงผิดปกติตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ให้ถูกต้องแล้ว จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มอีก 142,342.10 บาท ตามรายการเก็บเงินเพิ่มค่าไฟฟ้า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า หนี้ค่าไฟฟ้าในคดีนี้โจทก์คิดผ่านเครื่องวัดไฟฟ้าตามปกติตั้งแต่รอบการจดหน่วยวันที่ 18 สิงหาคม 2542 ถึงรอบจดหน่วยวันที่ 16 ตุลาคม 2546 โจทก์สามารถทวงถามได้แต่วันดังกล่าว โจทก์มาฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าเป็นค่าสินค้าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 เกินกำหนด 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้าแต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 อันเป็นธุรกิจทางการค้าตามปกติของโจทก์ แต่ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาการใช้ไฟฟ้าอันสืบเนื่องมาจากมีการสลับสายนิวตรอนทางด้านเข้าเครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้า และสร้างสายดินพิเศษภายในบ้านนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องปรับอากาศ มีผลทำให้เครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปเพิ่มอีกร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็หาใช่เป็นการเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระไม่ แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยถือเอาค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปมาเป็นค่าสินไหมทดแทน จึงไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 ที่ต้องฟ้องต่อศาลภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างมานั้น เป็นการฟ้องเรียกให้ชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตามปกติซึ่งข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share