แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ที่จะเป็นคู่ความได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลตามที่กล่าวไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) และคำว่าบุคคลนั้นได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับนิติบุคคลนั้นได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65 แล้วว่าจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่น โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า ด่านศุลกากรจังหวัด ส.โจทก์ที่ 2 เป็นหน่วยงานของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 และไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคล ดังนี้ โจทก์ที่ 2จึงเป็นเพียงส่วนราชการของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โจทก์ที่ 2 จึงเข้าเป็นคู่ความฟ้องคดีนี้ไม่ได้โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาประกันฉบับพิพาท ข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1สัญญารับประกันภัยรถยนต์ ตามบัญชีรายชื่อท้ายสัญญานี้ และสัญญาว่าจะส่งรถยนต์ให้ตามกำหนดนัดของโจทก์ และในระหว่างประกันนี้ข้าพเจ้าหรือผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามนัดหรือหนังสือเรียกของพนักงานของโจทก์ที่ 1 มิฉะนั้นข้าพเจ้ายอมรับผิดชอบใช้เงินเป็นจำนวน 280,000 บาท ข้อความตามสัญญาดังกล่าวเป็นการตกลงจะชำระเงิน 280,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ที่ 1 ดังนี้เงินจำนวน 280,000 บาท ตามข้อสัญญาจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทกรม โจทก์ที่ 2เป็นหน่วยงานของโจทก์ที่ 1 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 2ประจำด่านตรวจศุลกากรทุ่งสงตรวจค้นรถยนต์หมายเลขทะเบียน2จ-4501 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ พบอะไหล่เครื่องยนต์อันเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดการนำเข้าลักลอบหลบหนีภาษีศุลกากรจากประเทศมาเลเซียเข้ามาในราชอาณาจักรจึงยึดอะไหล่เครื่องยนต์ 51 ชิ้น และรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำผิดเป็นของกลาง ต่อมาจำเลยที่ 1 ยกสินค้าดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดินและจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้โดยทำสัญญาประกันไว้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองแจ้งให้จำเลยที่ 1ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืน จำเลยที่ 1 จะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์ทั้งสองภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหากผิดนัดจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้เงินจำนวน 280,000 บาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไว้แก่โจทก์ทั้งสอง ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน โจทก์ที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1นำรถยนต์คันดังกล่าวส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ที่ 2 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วเพิกเฉยโจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงิน280,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน 280,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน190,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลตามที่กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(11) และคำว่าบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสำหรับนิติบุคคลนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ว่าจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นหน่วยงานของโจทก์ที่ 1และไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลด่านศุลกากรจังหวัดสงขลาโจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงส่วนราชการของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โจทก์ที่ 2 จึงเข้าเป็นคู่ความ ฟ้องคดีนี้ไม่ได้โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 มีว่าเงินจำนวน 280,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.3 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ซึ่งเป็นฎีกาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยมา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จับกุมจำเลยที่ 1 ยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2จ-4501 กรุงเทพมหานคร พร้อมสินค้าต้องห้ามต้องจำกัดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นของกลาง ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.4 นำรถยนต์ไปจากความควบคุมของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1โดยจะปฏิบัติตามนัดหรือหนังสือเรียกของพนักงานศุลกากร มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชอบใช้เงินเป็นจำนวน 280,000 บาทมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไว้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมายจ.5 จ.6 โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า จำนวนเงิน 280,000 บาท ที่ระบุไว้ในสัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับแต่เป็นการประกันตามราคาทรัพย์ที่คู่สัญญาได้ตกลงกำหนดจำนวนกันไว้แน่นอน เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา ศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงได้ปรากฏว่าสัญญาประกันเอกสารหมายจ.4 ข้อ 1 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 สัญญารับประกันรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2จ-4501 กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คันตามบัญชีรายชื่อท้ายสัญญานี้ ฯลฯ และสัญญาว่าจะส่งรถยนต์ให้ตามกำหนดนัดของโจทก์ ข้อ 2 มีข้อความว่า”ระหว่างประกันนี้ข้าพเจ้าหรือผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามนัดหรือหนังสือเรียกของพนักงานศุลกากร มิฉะนั้นข้าพเจ้ายอมรับผิดชอบใช้เงินเป็นจำนวน 280,000 บาท” เห็นว่า ข้อความตามสัญญาข้อ 2 เป็นการตกลงจะชำระเงิน 280,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ที่ 1 เงิน 280,000 บาทจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลจึงมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3