คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยได้อ้างถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุและความจำเป็นที่มิได้ยื่นคำให้การและมาศาลในวันนัดพิจารณาว่า เนื่องจากไม่ทราบว่าถูกฟ้องและไม่ทราบวันนัดเนื่องจากจำเลยไปรักษาพยาบาลมารดาอยู่ต่างจังหวัด ในระหว่างวันที่ถูกฟ้องถึงวันที่ศาลชี้ขาดตัดสินคดีและมีการส่งคำบังคับ เพิ่งมาทราบเรื่องที่ถูกฟ้องและบังคับคดีหลังจากจำเลยออกโรงพยาบาลและกลับมาพักฟื้นอยู่ที่บ้าน ดังนี้ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างแล้วจำเลยก็ย่อมไม่สามารถมาแถลงให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในกำหนด 7 วัน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41 ได้กรณีเช่นนี้ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208มาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีโดย อนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลแรงงานกลางต้องไต่สวนคำร้อง ของ จำเลยและมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานโดย จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวนตามฟ้องแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามสำนวนขาดนัดและขาดนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางจึงพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์
วันที่ 8 มิถุนายน 2535 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางว่า จำเลยมิได้จงใจขาดนัด เหตุที่ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาเพราะจำเลยไม่ทราบว่าถูกฟ้อง เนื่องจากจำเลยดูแลอาการเจ็บป่วยของมารดาที่จังหวัดนครสวรรค์ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2535จนกระทั่งมารดาจำเลยได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2535จำเลยได้อยู่จัดงานศพให้เป็นที่เรียบร้อยและเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2535 และตัวจำเลยก็ต้องเข้ารักษาพยาบาลตัวเองที่โรงพยาบาลเพราะเจ็บป่วยตั้งแต่วันที่2 ถึง 3 มิถุนายน 2535 จำเลยออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นอยู่ที่บ้านเมื่อตอนเย็นของวันที่ 3 มิถุนายน 2535 ต่อมาวันที่ 4จึงทราบว่าจำเลยถูกฟ้องร้องและบังคับคดี ทำให้ไม่มีโอกาสได้ต่อสู้คดีและไม่อาจยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ถ้าจำเลยมีโอกาสต่อสู้คดี คำพิพากษาจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นให้จำเลยชนะคดี เพราะหนี้ที่โจทก์ทั้งสามนำมาฟ้องไม่เป็นความจริง ความจริงจำเลยได้ชำระค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามไปหมดแล้วและโจทก์ทั้งสามยังได้เบิกเงินค่าจ้างจากจำเลยเกินไปอีก ขอให้ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยให้การและพิจารณาคดีใหม่
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายใน 7 วัน ตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ให้ยกคำร้องจำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามคำร้องของ จำเลยได้อ้างถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุและความจำเป็นที่มิได้ยื่นคำให้การและมาศาลในวันนัดพิจารณา ก็เพราะไม่ทราบว่าถูกฟ้องและไม่ทราบวันนัดเนื่องจากจำเลยไปรักษาพยาบาลมารดาอยู่ต่างจังหวัดในระหว่างวันที่ถูกฟ้องถึงวันที่ศาลชี้ขาดตัดสินคดีและมีการส่งคำบังคับเพิ่งมาทราบเรื่องที่ถูกฟ้องและบังคับคดีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2535 ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างแล้ว จำเลยก็ย่อมไม่สามารถมาแถลงให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในกำหนด 7 วัน ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ได้เป็นธรรมดาอยู่เอง กรณีเช่นนี้ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีโดย อนุโลมตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยมิ ไต่สวนให้ได้ความจริงก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสำนวนฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของ จำเลยทั้งสามสำนวนแล้วมีคำสั่งใหม่ต่อไป

Share