แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกระทำครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันหรือมีเจตนา อย่างเดียวกันแต่ประสงค์ให้เกิดผลเป็นความผิดหลายฐานต่างกัน การที่จำเลยทั้งสามเข้าไปร่วมกันเลื่อยตัดทำไม้ประดู่ ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยได้เลื่อยตัดฟันออกจากต้น แล้วเลื่อยออกเป็นแผ่น จำนวน 97 แผ่น ปริมาตร 1.40 ลูกบาศก์เมตร ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งได้กระทำ ในคราวเดียวกันนั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นหลายกรรมในความผิดต่างฐานต่างหากจากกัน โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันลักลอบนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ ของกลางอันเป็นของผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนีด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27,27 ทวิแสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาใดข้อหาหนึ่ง เพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดดังกล่าวเป็นความผิดคนละฐาน จะลงโทษจำเลยทั้งสามในทั้งสองฐานความผิดย่อมไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิด และเป็นความจริงตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ไม่ขอต่อสู้คดี และไม่ต้องการทนายความย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำผิดฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสาม เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยทั้งสามไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางกับจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31(ที่ถูกมาตรา 31 วรรคหนึ่ง), 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11, 48, 73 (ที่ถูกมาตรา 73 วรรคหนึ่ง), 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานร่วมกันทำไม้ทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ (ที่ถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด) จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปซึ่งเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานนำเลื่อยโซ่ยนต์ ที่ยังไม่เสียภาษีและยังไม่ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร ปรับคนละ 45,760 บาท รวมโทษจำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 45,760 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 22,880 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับร้อยละ 30 และจ่ายรางวัลร้อยละ 25 ของราคาของกลางในกรณีที่มิอาจขายของกลางได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7, 8
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสาม ประการแรกว่า ตามคำฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันทำไม้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้และความผิดฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ในปัญหาดังกล่าวจำเลยทั้งสามฎีกาว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดในวันที่ 28 ธันวาคม 2540 เวลากลางวันโดยไม่ได้ระบุว่าการกระทำความผิดฐานใด กระทำในวันเวลาใดให้ชัดแจ้งแตกต่างกันอย่างไรทั้งได้กระทำเกี่ยวกับไม้ของกลางที่เป็นไม้ประเภท ก. จำนวนและปริมาตรเดียวกันและสถานที่กระทำความผิดเป็นสถานที่เดียวกันถือได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดในคราวเดียวกัน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำคนละคราวอันเป็นความผิดหลายกรรมนั้น เห็นว่า ในการพิจารณาว่าการกระทำเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น มิใช่พิจารณาแต่เพียงว่า ถ้าเป็นการกระทำครั้งเดียว คราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันหรือมีเจตนาอย่างเดียวกันแต่ประสงค์ให้เกิดผลเป็นความผิดหลายฐานต่างกัน การที่จำเลยทั้งสามเข้าไปร่วมกันเลื่อยตัดทำไม้ประดู่ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยได้เลื่อยตัดฟันออกจากต้นแล้วเลื่อยออกเป็นแผ่น จำนวน 97 แผ่นปริมาตร 1.40 ลูกบาศก์เมตร ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกันนั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นหลายกรรมในความผิดต่างฐานต่างหากจากกันหาใช่กรรมเดียวไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามคำฟ้องโจทก์ข้อหานำเลื่อยโซ่ยนต์ ที่ยังไม่เสียภาษีและยังไม่ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องนั้นโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันลักลอบนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ ของกลางอันเป็นของผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนีด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2464 มาตรา 27, 27 ทวิ แสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดดังกล่าวเป็นความผิดคนละฐาน จะลงโทษจำเลยทั้งสามในทั้งสองฐานความผิดย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามที่ว่า ข้าพเจ้าได้รับสำเนาคำฟ้องและทราบคำฟ้องของโจทก์แล้ว ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดและเป็นความจริงตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ไม่ขอต่อสู้คดีและไม่ต้องการทนายความย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสาม เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยทั้งสามไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้นจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาเป็นข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำไม้และแปรรูปไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ 2 เครื่องเป็นเครื่องมือในการตัดฟันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศเป็นอย่างมากจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสามนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข สรุปแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ ไม่จ่ายสินบนนำจับ เงินรางวัลนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1