คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4020/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธ.เป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวซึ่งผู้ก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวได้ยกกรรมสิทธิ์ให้แก่ ธ. โดยผู้ก่อสร้างตึกแถวมีสิทธิจัดหาคนเช่าและเรียกเก็บเงินค่าก่อสร้างจากผู้เช่า แต่ให้ผู้เช่าทำหนังสือสัญญาเช่ากับ ธ. และจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 15 ปี ต่อมา ธ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ ล. และ ว. บุตรโจทก์ หลังจากนั้นธ.ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากับจำเลยโดยจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และ ธ.ยังเก็บค่าเช่าต่อมาอีก 4 ปีเศษล. และ ว. จึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยและถอนฟ้องแล้วโอนที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นมารดา ดังนี้แสดงว่า ล. และ ว. กับโจทก์ได้รับรู้ถึงสิทธิของผู้ก่อสร้างตึกแถวและสิทธิตามสัญญาเช่าของจำเลยตลอดมา เพิ่งจะมาเปลี่ยนใจหาทางบิดพลิ้วในภายหลัง อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จะอ้างความไม่สุจริตมาฟ้องขับไล่จำเลยมิได้
ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดพร้อมตึกแถว ๖ ห้องจำเลยทั้งห้าสำนวนเข้าไปอยู่ในตึกแถวโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ไม่เคยทำนิติกรรมหรือยินยอมให้จำเลยทั้งห้าสำนวนเข้าไปอยู่ในตึกแถวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งห้าสำนวนและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวกับให้ชำระค่าเสียหาย
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การต่อสู้คดีหลายประการและกล่าวว่าจำเลยเช่าตึกแถวจากนางสาวธิติซึ่งแสดงตนว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์และนางวงศ์ทิพย์เชิดให้นางสาวธิติเป็นตัวแทนโจทก์ให้เช่าที่ดินและตึกแถว การเช่าจึงผูกพันโจทก์ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตสมคบกับนางวงศ์ทิพย์รับโอนที่ดินและตึกมาเพื่อฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทุกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๓ นางสาวธิติ บุนนาคได้ทำสัญญายอมให้นายอภิชาติและนายอำนวยปลูกสร้างตึกแถว ๑๖ ห้องลงในที่ดินของนางสาวธิติ มีข้อตกลงกันว่า เมื่อก่อสร้างเสร็จนายอภิชาติและนายอำนวยยอมให้ตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวธิติ และยอมให้ค่าหน้าดินแก่นางสาวธิติจำนวนหนึ่ง ส่วนนายอภิชาติและนายอำนวยมีสิทธิจัดหาคนเช่าและเรียกเก็บเงินค่าก่อสร้างจากผู้เช่าโดยให้ผู้เช่าทำหนังสือสัญญาเช่ากับนางสาวธิติและจดทะเบียนการเช่ามีกำหนดเวลา ๑๕ ปี ในอัตราค่าเช่าเดือนละ ๒๕๐ บาท ปรากฏตามเอกสาร ล.๖ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๖ นางสาวธิติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๖ โฉนดตามฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่นายอภิชาติและนายอำนวยก่อสร้างตึกแถวให้แก่นายโลเรนซ์และนางวงศ์ทิพย์บุตรโจทก์คนละ ๓ โฉนด หลังจากโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง ๖ โฉนด ให้แก่นายโลเรนซ์และนางวงศ์ทิพย์แล้ว นางสาวธิติได้ทำหนังสือสัญญาให้จำเลยทั้ง ๕ สำนวนเช่าตึกแถวซึ่งนายอภิชาติและนายอำนวยเป็นผู้ก่อสร้างบนที่ดินทั้ง ๖ โฉนดโดยจำเลยบางรายนายอภิชาติและนายอำนวยเป็นผู้นำมาทำสัญญาเช่ากับนางสาวธิติตั้งแต่เริ่มต้น จำเลยบางรายรับโอนสิทธิการเช่าต่อกันมาโดยชอบ ดังปรากฏตามหนังสือสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๕ และ ล.๙ การเช่าทุกรายจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังจากทำสัญญาเช่าแล้วนายหิ้งน้องชายนางสาวธิติก็เป็นผู้เก็บค่าเช่าจากผู้เช่าให้แก่นางสาวธิติจนกระทั่งเดือนมกราคม ๒๕๒๑
จากที่ได้ความดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หรือนายโลเรนซ์และนางวงศ์ทิพย์เชิดนางสาวธิติออกแสดงเป็นตัวแทน หรือยอมให้นางสาวธิติเชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทน เพราะจำเลยทั้ง ๕ สำนวนเข้าใจว่านางสาวธิติคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงมิใช่กรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑ ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตามแต่จากข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า หลังจากนายโลเรนซ์และนางวงศ์ทิพย์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง ๖โฉนดจากนางสาวธิติตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๖ แล้ว นายโลเรนซ์และนางวงศ์ทิพย์ยังปล่อยให้นางสาวธิติทำสัญญาเช่ากับจำเลยทั้ง ๕ สำนวน ตลอดจนจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และปล่อยให้นางสาวธิติเป็นผู้เก็บค่าเช่าต่อมาเป็นเวลาถึง ๔ ปีเศษนายโลเรนซ์และนางสาววงศ์ทิพย์จึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยและถอนฟ้อง แล้วจึงโอนที่ดินทั้ง ๖ โฉนดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นมารดา แสดงว่านายโลเรนซ์ นางวงศ์ทิพย์และโจทก์ได้รู้เห็นและรับรู้สิทธิตามสัญญาระหว่างนายอภิชาติและนายอำนวยกับนางสาวธิติตลอดจนสิทธิตามสัญญาเช่าของจำเลยทั้ง ๕ สำนวนตลอดมาตั้งแต่ต้น นายโลเรนซ์ นางวงศ์ทิพย์และโจทก์เพิ่งจะมาเปลี่ยนใจหาทางบิดพลิ้วในภายหลัง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอันเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕) และไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยว่าการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นการนอกประเด็นหรือไม่ โจทก์ไม่สามารถที่จะอ้างความไม่สุจริตของตนมาฟ้องหาว่าจำเลยทั้ง ๕ สำนวนเข้าไปอยู่ในที่ดินทั้ง ๖ โฉนดและตึกแถวโดยละเมิด
พิพากษายืน

Share