คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 19 ข้อ 2 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า ถ้าผู้ใหญ่บ้านหมู่ใดว่างลงให้คัดเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ทราบการว่างนั้น สำหรับวัน เวลาและที่เลือกผู้ใหญ่บ้านมีข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ.2524 ซึ่งออกตามความในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวข้อ 6กำหนดให้นายอำเภอประกาศให้ราษฎรในหมู่บ้านที่จะทำการเลือกผู้ใหญ่บ้านทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันทำการเลือก ตามกฎหมายและข้อบังคับนั้นมิได้กล่าวถึงการเลื่อนการเลือกและการเปลี่ยนที่เลือกผู้ใหญ่บ้าน ผิดกับการเลือกกำนันซึ่งมีระเบียบกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกกำนันต้องกระทำก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ดังนั้นการเปลี่ยนที่เลือกและการเลื่อนการเลือกผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอจึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม แต่ควรประกาศล่วงหน้าให้ราษฎรทราบทั่วถึงกันก่อนวันเลือก และเลือกให้ทันภายในกำหนดสิบห้าวัน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การแปลกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ออกตามกฎหมายต้องแปลให้เกิดผล โดยดูถึงเจตนาในการออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับนั้น ๆ ด้วย ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดให้นายอำเภอประกาศกำหนดวัน เวลา และที่เลือกผู้ใหญ่บ้านให้ราษฎรทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันทำการเลือก จึงหมายถึงการประกาศครั้งแรก
จำเลยประกาศกำหนดวัน เวลา และที่เลือกผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกวันที่ 1 เมษายน 2526 กำหนดเลือกที่บ้านนาย ส.ในวันที่ 12เมษายน 2526 เวลา 10 นาฬิกา ซึ่งนับจากวันประกาศครบ 7 วันแล้วการที่จำเลยประกาศเปลี่ยนที่เลือกเป็นที่โรงเรียนสุเหร่าคลองสิบ และในวันที่ 12 เมษายน 2526 ได้ประกาศเลื่อนวันเลือกเป็นวันที่ 15 เมษายน 2526 ก็เป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสมและเป็นเวลาล่วงหน้าเพียงพอให้ราษฎรทราบทั่วถึงกันแล้วกรณีถือได้ว่าจำเลยได้ประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่เลือกผู้ใหญ่บ้านไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนวันทำการเลือก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๖ จำเลยประกาศการเลือกผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๗ แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานครกำหนดให้มีการเลือกในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๖ เวลา ๑๐ นาฬิกา ที่บ้านนายสวัสดิ์ ศรีสวัสดิ์ ต่อมาวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๒๖ จำเลยประกาศเปลี่ยนที่เลือกเป็นโรงเรียนสุเหร่าคลองสิบ ต่อมาวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๖ จำเลยประกาศเลื่อนการเลือกเป็นวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๖ เวลา ๑๐ นาฬิกา ในวันเลือก โจทก์และนายอำนวย ศรีสวัสดิ์ ได้รับการเสนอชื่อ ผลการเลือกปรากฏว่านายอำนวย ศรีสวัสดิ์ ได้ ๖๕ คะแนน โจทก์ได้ ๖๒ คะแนน จำเลยกระทำผิดข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๒๔ ที่ให้ประกาศกำหนดวันเวลา และที่เลือกให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วันแต่มิได้กระทำ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษายกเลิกการเลือกผู้ใหญ่บ้าน และให้จำเลยกำหนดวันเลือกให้ถูกต้องตามข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ประกาศการเลือกผู้ใหญ่บ้านล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า ๗ วันแล้ว ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการเลือกผู้ใหญ่บ้าน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๑๙ ข้อ ๒ ที่แก้ไขแล้วบัญญัติว่า ถ้าผู้ใหญ่บ้านหมู่ใดว่างลง ให้คัดเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ทราบการว่างนั้นสำหรับวัน เวลา และที่เลือกผู้ใหญ่บ้านมีข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติดังกล่าวข้อ ๖ กำหนดให้นายอำเภอประกาศให้ราษฎรในหมู่บ้านที่จะทำการเลือกผู้ใหญ่บ้านทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันทำการเลือก ตามกฎหมายและข้อบังคับนั้นมิได้กล่าวถึงการเลื่อนการเลือกและการเปลี่ยนที่เลือก ผิดกับการเลือกกำนันซึ่งมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกกำนัน พ.ศ. ๒๕๒๔ ออกตามความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ ข้อ ๖กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกกำนันต้องกระทำก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะการเลือกผู้ใหญ่บ้านกระทำกันเฉพาะราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนไม่มากและอยู่ไม่ห่างไกลกัน การประกาศให้ราษฎรทราบหาได้โดยง่ายนายอำเภอจึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม แต่ต้องประกาศล่วงหน้าให้ราษฎรทราบทั่วถึงกันก่อนวันเลือก และเลือกให้ทันภายในกำหนดสิบห้าวันถ้าถือว่าการเปลี่ยนที่เลือกและการเลื่อนวัน เวลาเลือกผู้ใหญ่บ้านจะต้องประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันทำการเลือก การเลือกผู้ใหญ่บ้านอาจกระทำไปไม่ได้ เพราะต้องกระทำภายในเวลาจำกัดการแปลกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ออกตามกฎหมายต้องแปลให้เกิดผล โดยดูถึงเจตนาในการออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับนั้นๆ ด้วย ดังนั้นที่ข้อบังคับกำหนดว่าให้นายอำเภอประกาศกำหนดวัน เวลา และที่เลือกผู้ใหญ่บ้านให้ราษฎรทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันทำการเลือกจึงหมายถึงการประกาศครั้งแรก คดีนี้จำเลยประกาศกำหนดวัน เวลา และที่เลือกครั้งแรกวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๖ กำหนดเลือกที่บ้านนายสวัสดิ์ ศรีสวัสดิ์ ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๖ เวลา ๑๐ นาฬิกา ซึ่งนับจากวันประกาศครบ ๗ วันแล้ว การที่จำเลยประกาศเปลี่ยนที่เลือกไปเป็นโรงเรียนสุเหร่าคลองสิบ และในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๖ ได้ประกาศเลื่อนวันเลือกจากเดิมเป็นวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๖ ก็เป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม และเป็นเวลาล่วงหน้าเพียงพอให้ราษฎรทราบทั่วถึงกันแล้วกรณีถือได้ว่าจำเลยประกาศกำหนดวัน เวลา และที่เลือกผู้ใหญ่บ้านไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนวันทำการเลือกตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกเลิกการเลือกผู้ใหญ่บ้านครั้งนี้ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share