คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4016/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 บัญญัติว่า บรรดายาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 4 หรือประเภท 5… ให้ริบเสียทั้งสิ้น ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติว่าทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวทั้งที่เป็นบทเฉพาะและบททั่วไปมีความสอดคล้องต้องกันแสดงให้เห็นว่ามีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์ให้ศาลสั่งริบยาเสพติดให้โทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียทั้งสิ้น ซึ่งเป็นบทบังคับเด็ดขาด ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ริบเมทแอมเฟตามีนมาในคำขอท้ายฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้วว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลมีอำนาจสั่งริบเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 23.441 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7,15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 66 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกคนละ 25 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 16 ปี 8 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย ขอให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 102 บัญญัติว่า บรรดายาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 4หรือประเภท 5… ให้ริบเสียทั้งสิ้น ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติว่า ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวทั้งที่เป็นบทเฉพาะและบททั่วไปมีความสอดคล้องต้องกัน แสดงให้เห็นว่ามีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์ให้ศาลสั่งริบยาเสพติดให้โทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียทั้งสิ้น ซึ่งเป็นบทบังคับเด็ดขาด ดังนั้นแม้โจทก์จะมิได้ขอให้ริบเมทแอมเฟตามีนมาในคำขอท้ายฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ได้กล่าวไว้ในฟ้องแล้วว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลก็มีอำนาจสั่งริบเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง ไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share