คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายครั้งแรกในคืนวันที่ 16 มีนาคม 2544 ครั้นถึงวันรุ่งขึ้นเวลาเที่ยงวัน ผู้เสียหาย จะกลับบ้านจึงเดินออกจากบ้านที่เกิดเหตุกับนางสาว ร. เดินไปประมาณ 2 กิโลเมตร จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ขับรถจักรยานยนต์ตามมา จำเลยที่ 2 จับแขนนางสาว ร. จำเลยที่ 1 จับแขนผู้เสียหายบอกผู้เสียหายว่าค่อยกลับตอนเย็น ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ 1 ดึงแขนลากตัวผู้เสียหายกลับไปในบ้านเกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายอีก 1 ครั้ง เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับพวกติดตามผู้เสียหายทันที ถือว่าผู้เสียหายยังไม่หลุดพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก ดังนั้น การกระทำชำเราของจำเลยที่ 1 ทั้งสองครั้งจึงต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ในวาระเดียวกัน โดยเจตนาเดิมไม่ขาดตอนจากกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๗๗, ๒๘๓ ทวิ, ๓๑๐, ๓๑๗
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันพรากพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และข้อหาร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน แต่ให้การปฏิเสธข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าร่วมกันพรากพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครอง แต่ไม่ได้กระทำการอนาจาร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๘๓, ๒๗๗ วรรคหนึ่ง, ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง, ๓๑๐ วรรคหนึ่ง, ๓๑๗ วรรคสาม ส่วนจำเลยที่ ๒ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๘๓, ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง, ๓๑๐ วรรคหนึ่ง, ๓๑๗ วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๖ และ ๗๕ ตามลำดับ รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๔ ปี ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๒ ปี ๑๒ เดือน ลดโทษให้กึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒ ปี ๓ เดือน ส่วนจำเลยที่ ๒ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ ปี ๑๒ เดือน ให้เปลี่ยนโทษ จำคุกจำเลยทั้งสองเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดตรัง สำหรับจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน นับแต่วันพิพากษา จำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ ปี นับแต่วันพิพากษา ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง และมาตรา ๓๑๗ เป็นความผิดต่างกรรมกัน และจำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ วรรคหนึ่ง เป็นสองกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๖ แล้งคงจำคุก ๒ ปี อีกกระทงหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ แล้วจำคุก ๑ ปี รวมเป็นโทษจำคุก ๓ ปี ๓ เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ ๑ ไปฝึกและอบรมมีกำหนด ๒ ปี ๖ เดือน นับแต่วันพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า การที่จำเลยที่ ๑ กระทำชำเราผู้เสียหาย ๒ ครั้ง เป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ วินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ ๑ กระทำชำเราผู้เสียหายครั้งแรกในคืนวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๔ ครั้นถึง วันรุ่งขึ้นเวลาเที่ยงวันผู้เสียหายจะกลับบ้านจึงเดินออกจากบ้านที่เกิดเหตุกับนางสาว ร. เดินไปได้ประมาณ ๒ กิโลเมตร จำเลยทั้งสองกับพวกอีก ๑ คน ขับรถจักรยานยนต์ตามมา จำเลยที่ ๒ จับแขนนางสาว ร. จำเลยที่ ๑ จับแขนผู้เสียหาย บอกผู้เสียหายว่าค่อยกลับตอนเย็น ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ ๑ ดึงแขนลากตัวผู้เสียหายกลับไปบ้านเกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายอีก ๑ ครั้ง เห็นว่า จำเลยที่ ๑ กับพวกติดตามผู้เสียหายไปในลักษณะทันที ถือว่าผู้เสียหายยังไม่หลุดพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ กับพวก ดังนั้น การกระทำชำเราของจำเลยที่ ๑ ทั้งสองครั้งจึงต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ในวาระเดียวกัน โดยเจตนาเดิมไม่ขาดจากกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำสองกรรม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น .

Share