คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดการกระทำอันเป็นความผิดคือ การผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในความครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือ 5 โดยไม่ต้องพิจารณาว่ามีปริมาณเท่าใด ส่วนในวรรคสองเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดว่า การมียาเสพติดให้โทษประเภท 4 หรือ 5 ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไปเป็นการมีไว้เพื่อจำหน่าย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือจำเลยมีกัญชาแห้งอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน1 ปีบกับอีก 4 ถุงหนักรวม 1,205.45 กรัม ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้วจำเลยได้จำหน่ายขายกัญชาอันเป็นส่วนหนึ่งของยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,26, 75, 76, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเฉพาะกัญชาของกลาง นอกนั้นสั่งคืนเจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ฐานจำหน่ายกัญชาจำคุก2 ปี ปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปีปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้กำหนด 2 ปี กัญชาของกลางริบ ของกลางนอกจากนี้คืนเจ้าของ ไม่ชำระค่าปรับกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 76 วรรคสอง และผิดตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 75 วรรคหนึ่งอีกกรรมหนึ่งไม่ปรับและไม่รอการลงโทษให้จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26วรรคหนึ่งไม่ถูกต้อง เพราะกัญชาของกลางมีปริมาณไม่ถึงสิบกิโลกรัมนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำอันเป็นความผิด คือการผลิตจำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาว่ายาเสพติดให้โทษจะมีปริมาณเท่าใด ส่วนความในวรรคสองของบทมาตราดังกล่าวที่ให้ถือว่าการมียาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป เป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเป็นเพียงบทสันนิษฐานเด็ดขาดมิให้ผู้กระทำความผิดโต้เถียงว่ามีไว้เพื่อการอื่นที่มิใช่มีไว้เพื่อจำหน่ายได้เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยมาจึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share