แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปพ่อครัวถือจานอาหารมืออีกข้างหนึ่งชู นิ้วหัวแม่มืออยู่ในวงกลมลวดลายประดิษฐ์ มีอักษรไทยคำว่า “มิสเตอร์กุ๊ก” และอักษรโรมันคำว่า “M.R.COOK”อยู่ด้านบนและรูปแถบคล้ายริบบิ้น อยู่ด้านล่าง ส่วนของโจทก์เป็นอักษรไทยคำว่า “กุ๊ก” และอักษรโรมันคำว่า “COOK” กับเป็นรูปการ์ตูนคล้ายขวดบรรจุน้ำมันพืชมีอักษรไทย คำว่า “กุ๊ก” และอักษรโรมันคำว่า “COOK” อยู่บนลำตัวของรูปดังกล่าว แม้ของจำเลยจะมีคำว่า “กุ๊ก” และคำว่า “COOK” เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นคำเดียวกันกับคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่คำดังกล่าวเป็นคำสามัญทั่ว ๆ ไป มิใช่คำประดิษฐ์ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าว และเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายก็มีเสียงเรียกขานแตกต่างกันโดยของโจทก์เรียกว่า กุ๊ก ส่วนของจำเลยเรียกว่า มีสเตอร์กุ๊กสินค้าที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเพียงชนิดเดียว คือ น้ำมันพืชเท่านั้น ส่วนสินค้าของจำเลยเป็นน้ำปลา ซอส ชูรส น้ำมันหมู น้ำส้มสายชูและไส้กรอก ไม่มีน้ำมันพืช แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะทำให้สาธารณชนหลงผิดดังนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า”กุ๊ก” ทั้งที่เป็นตัวอักษรไทยและอักษรโรมัน ประกอบกับรูปการ์ตูนคนทำอาหารลำตัวคล้ายขวดบรรจุน้ำมันพืชกุ๊กมีเท้าและใส่หมวกลำตัวรูปการ์ตูน คนทำอาหารมีคำว่า “กุ๊ก” ทั้งอักษรไทยและโรมันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว สำหรับสินค้าจำพวก 42 ทั้งจำพวกโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าประเภทน้ำมันพืชที่ใช้ในการปรุงอาหารซึ่งโจทก์ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายว่าน้ำมันพืชกุ๊กเป็นของโจทก์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2527 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “มิสเตอร์กุ๊ก” ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมัน ประกอบรูปพ่อครัวยกนิ้วหัวแม่มือขวาสำหรับสินค้าจำพวก42 ตามรายการสินค้า คือ 1.นัำปลา 2.ผงชูรส 3.น้ำมันหมู4.น้ำส้มสายชู 5.ไส้กรอก การที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพราะจำเลยนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “กุ๊ก” ของโจทก์ไปใช้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะย่อมทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดหรือเข้าใจผิดในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อถือโอกาสเอาเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดย ทำ ให้เห็นว่ามีลักษณะแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่ความแตกต่างนั้นก็เป็นส่วนที่ไม่เป็นสาระสำคัญการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็ยื่นภายหลังจากที่ผลิตภัณฑ์สินค้านัำมันกุ๊กของโจทก์จำหน่ายแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศไทยเป็นเวลาถึง 8 ปีแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งและละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างชัดแจ้ง หากจำเลยมีเจตนาสุจริตก็น่าจะเลือกเอาคำอื่น ๆ อีกมากมายที่มีความหมายเกี่ยวกับการครัวหรือการปรุงอาหารมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ เมื่อโจทก์ทราบการกระทำละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวก็ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของจำเลย แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงต้องคำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้พิพากษาว่าโจทก์ไม่มี สิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “กุ๊ก” ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 137943 จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “กุ๊ก” ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันไปใช้กับบรรดาสินค้าของจำเลย
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “กุ๊ก”ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันเป็นคำสามัญและเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปซึ่งหมายความถึงคนปรุงอาหารที่มีอยู่ตามร้านอาหารหรือภัตตาคารทั่ว ๆ ไป ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะใช้คำนี้ไม่ว่าพูดหรือเขียนโจทก์ไม่มีสิทธิหวงห้าม โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เฉพาะกับน้ำมันพืชเพียงอย่างเดียว แต่จำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “มิสเตอร์กุ๊ก” ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 42 เพียง 5 รายการ คือ 1.น้ำปลา 2.ซอสชูรส3.น้ำมันหมู 4.น้ำส้มสายชู 5.ไส้กรอก จำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตมิได้เจตนาลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยไม่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนกล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปพ่อครัวถือจานอาหาร มืออีกข้างหนึ่งชูนิ้วหัวแม่มืออยู่ในวงกลมลวดลายประดิษฐ์ มีอักษรไทยคำว่า “มิสเตอร์กุ๊ก”และอักษรโรมัน คำว่า “M.R.COOK” อยู่ด้านบนและรูปแถบคล้ายริบบิ้นอยู่ด้านล่าง ส่วนของโจทก์เป็นอักษรไทยคำว่า “กุ๊ก” และอักษรโรมันคำว่า “COOK” กับเป็นรูปการ์ตูนคล้ายขวดบรรจุน้ำมันพืชมีอักษรไทยคำว่า “กุ๊ก” และอักษรโรมันคำว่า “COOK” อยู่บนลำตัวของรูปดังกล่าวแม้ของจำเลยจะมีคำว่า “กุ๊ก” และคำว่า “COOK” เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นคำเดียวกันกับคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม เห็นว่า คำดังกล่าวเป็นคำสามัญทั่ว ๆ ไป มิใช่คำประดิษฐ์ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าวและเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายก็มีเสียงเรียกขานแตกต่างกันโดยของโจทก์เรียกว่า กุ๊ก ส่วนของจำเลยเรียกว่า มิสเตอร์กุ๊กโจทก์เองก็รับว่าสินค้าที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเพียงชนิดเดียวคือ น้ำมันพืช เท่านั้นส่วนสินค้าของจำเลยเป็นน้ำปลา ซอสชูรส น้ำมันหมู น้ำส้มสายชูและไส้กรอก ไม่มีน้ำมันพืช แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะทำให้สาธารณชนหลงผิด สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีความแตกต่าง กันอย่างชัดเจน ไม่พอฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน
พิพากษายืน.