คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4013/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำนั้น ต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องอันเกี่ยวกับประเด็นข้อเดียวกันที่ศาลได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว หากประเด็นในเรื่องแรกที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับประเด็นในเรื่องหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องคดีอันเกี่ยวเนื่องกับคดีหรือประเด็นที่ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับแรกมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมหรือไม่ ส่วนคำร้องฉบับที่สอง ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. จึงเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับคดีแก่จำเลยทั้งห้า ถือว่าการร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องในฉบับที่สองนี้เป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิโดยอาศัยเหตุที่มาคนละเหตุกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับที่สองจึงอาศัยเหตุที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างกับคำร้องฉบับแรก การยื่นคำร้องฉบับที่สองของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำกับคำร้องฉบับแรก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีท และสัญญาค้ำประกัน 12,223,378.04 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ระหว่างการบังคับคดีตามคำพิพากษา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ผู้ร้อง ยื่นคำร้องฉบับแรกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ได้ยื่นคำร้องฉบับที่สองเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 ขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนอีกครั้งหนึ่ง
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยและผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมไม่คัดค้านการยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้าน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมได้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมทำสัญญาโอนสินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งห้าด้วย โดยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยรับโอนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมโอนกิจการให้แก่ผู้ร้องตามมติของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และในวันที่ 24 มกราคม 2551 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ทำสัญญาโอนคืนสินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพ รวมถึงสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งห้าให้แก่ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องฉบับที่สองเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้ำตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ประกอบมาตรา 144 และ 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำนั้น ต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องอันเกี่ยวกับประเด็นข้อเดียวกันที่ศาลได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว หากประเด็นในเรื่องแรกที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับประเด็นในเรื่องหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องคดีอันเกี่ยวเนื่องกับคดีหรือประเด็นที่ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว คดีนี้ได้ความว่าผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับแรกอ้างว่า ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมมีต่อจำเลยทั้งห้ามาจากผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม อันเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม โดยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับนี้มีว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมหรือไม่ ส่วนคำร้องฉบับที่สองได้ความว่า ผู้ร้องอ้างว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้ทำสัญญาโอนสินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพของจำเลยทั้งห้าให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 และต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้มีหนังสือแจ้งถึงการโอนสินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวคืนให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด แต่เนื่องจากกองทุนและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้มีมติให้โอนกิจการบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ให้แก่ผู้ร้อง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 สินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพของจำเลยทั้งห้าจึงตกแก่ผู้ร้องตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ผู้ร้องจึงขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เห็นได้ว่า คำร้องฉบับที่สองของผู้ร้องเป็นการอ้างเหตุผลที่มาแห่งสิทธิของผู้ร้องเพื่อร้องขอสวมสิทธิแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เนื่องจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้โอนคืนสินทรัพย์และหลักประกัน แม้ว่าในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องวันที่ 1 เมษายน 2553 สินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวจะไม่ได้อยู่กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้วเพราะได้โอนคืนให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2551 แต่การที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 ก่อนที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจะแจ้งการโอนคืนสินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพดังกล่าว ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่เป็นของบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด นับแต่นั้นมาย่อมตกแก่ผู้ร้องโดยผลของกฎหมาย จึงถือได้ว่าการโอนคืนสินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพดังกล่าวของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเป็นการโอนคืนสินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพให้แก่ผู้ร้องนั่นเอง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายและมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในสินทรัพย์และหลักประกันด้อยคุณภาพของจำเลยทั้งห้าในคดีนี้ได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับที่สองนี้ จึงเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับคดีแก่จำเลยทั้งห้า ถือว่าการร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องในฉบับที่สองนี้เป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิโดยอาศัยเหตุที่มาคนละเหตุกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับที่สองจึงอาศัยเหตุที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างกับคำร้องฉบับแรก การยื่นคำร้องฉบับที่สองของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำกับคำร้องฉบับแรก เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share