คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเกิดในประเทศไทยในขณะที่ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 ใช้บังคับ บิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่มารดาเกิดในประเทศไทย แม้เมื่อจำเลยเป็นผู้เยาว์ บิดาได้นำชื่อจำเลยไปจดทะเบียนไว้ต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยเป็นคนมีสัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456มาตรา 3 ข้อ 3 การที่บิดานำเอาชื่อจำเลยไปจดทะเบียนไว้ต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ หาทำให้จำเลยเสียสัญชาติไทยไปไม่

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 20 และ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 4

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเกิดในประเทศไทยในขณะที่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 ใช้บังคับอยู่บิดาจำเลยเป็นคนเชื้อชาติอินเดีย บังคับอังกฤษ มารดาจำเลยก็เป็นคนเชื้อชาติอินเดีย บังคับอังกฤษแต่เกิดในประเทศไทย เมื่อจำเลยเป็นผู้เยาว์อยู่บิดาได้นำชื่อจำเลยไปจดทะเบียนไว้ต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษและเมื่อจำเลยบรรลุนิติภาวะมาเกิน 2 ปีแล้ว มิได้ขอถือเป็นคนสัญชาติไทย

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีข้อตกลงในสนธิสัญญาว่าด้วยการจดบัญชีคนในบังคับอังกฤษในกรุงสยาม ลงชื่อที่กรุงเทพฯ วันที่ 29 พฤศจิกายนร.ศ. 118 ระหว่างรัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ต้องถือว่าจำเลยเป็นคนมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3 ข้อ 3 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลผู้ได้กำเนิดในพระราชอาณาจักรสยามเป็นคนไทย ไม่มีเหตุอย่างใดที่จำเลยต้องเสียสัญชาติไทยไปโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่วนการที่บิดานำเอาชื่อจำเลยไปจดทะเบียนไว้ต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษนั้นหาทำให้จำเลยเสียสัญชาติไทยไปไม่ เมื่อจำเลยยังมีสัญชาติไทยอยู่จำเลยก็ไม่ต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ เพราะคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ให้วิเคราะห์ศัพท์ว่า หมายความว่าคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

Share