คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้รับสินค้าพิพาทจากผู้ส่งในสภาพเรียบร้อยแต่เมื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง สินค้าพิพาทมีสภาพเสียหายโดยขาดจำนวนและปนเปื้อนในระหว่างอยู่ในความดูแลของตน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพื่อความสูญหายและเสียหายของสินค้าพิพาท จะอ้างว่าในการบรรทุกสินค้าลงเรือ ผู้ส่งไม่ได้จัดหาวัสดุป้องกันการปนเปื้อนไว้ ตนจึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าข้าวสาลีที่จำเลยที่ 1ขนส่งจากเมืองท่าในประเทศแคนาดาถึงปลายทางกรุงเทพมหานครเมื่อเรือเข้าเทียบท่าขนถ่ายสินค้าที่เกาะสีชัง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จ้างเรือลำเลียง 3 ลำ ขนถ่ายสินค้าต่อไปยังท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่ามีสินค้าปนเปื้อนเสียหายและขาดจำนวน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 1,797,144.84 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,788,414.55 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายนี้ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยจัดหาเรือลำเลียงในการขนสินค้าขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ตัวแทนดำเนินการทางศุลกากรไม่ได้ทำธุรกิจรับขนของทางทะเล และไม่ได้ร่วมขนส่งสินค้ากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน1,788,414.55 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน482,810.49 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2536 และของต้นเงิน 1,305,604.06บาท นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้รับสินค้าพิพาทไว้จากผู้ส่งในสภาพเรียบร้อย แต่สินค้าพิพาทเมื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งมีสภาพเสียหายโดยขาดจำนวนและปนเปื้อนในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กำหนดให้ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือ การเก็บรักษา การดูแลและการขนถ่ายซึ่งของที่ตนทำการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพื่อความสูญหายและเสียหายของสินค้าพิพาทตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลดังกล่าว และเมื่อทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรา 10 ดังกล่าวครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าในการบรรทุกสินค้าลงเรือผู้ส่งไม่ได้จัดหาวัสดุป้องกันการปนเปื้อนไว้ดังข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 ได้”

พิพากษายืน

Share