คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4002/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกยืนยันข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งลงนามแทนโดย ส. กับ ช. แต่ในขณะตกลงว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น ส. หรือกรรมการอื่นในบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังมิได้เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทจำเลยที่ 4 แต่เพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการในบริษัทจำเลยที่ 4 ในภายหลัง ส. จึงกระทำการในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น แต่ตามข้อบังคับบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กำหนดให้มีกรรมการบริษัท 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัท จึงจะสามารถกระทำกิจการต่าง ๆ ผูกพันบริษัทได้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีหนังสือมอบอำนาจให้ ส. ไปทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ ดังนั้น การที่ ส. ไปเจรจาตกลงว่าจ้างโจทก์ รวมทั้งทำหนังสือยืนยันข้อตกลงโดยลงลายมือชื่อร่วมกับ ช. ซึ่งขณะนั้น ช. ก็ยังไม่ได้เข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างและขอเบิกเงินค่าตอบแทนกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามสัญญา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เชิด ส. ให้เป็นตัวแทนของบริษัทจำเลยที่ 2 และที่ 3 สัญญาว่าจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 จึงผูกพันจำเลยที่ 2และที่ 3 เท่านั้น
แม้เอกสารหมาย จ.7 จะกล่าวถึงจำเลยที่ 1 และบริษัทในเครือ และจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 จะเป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ถือว่าการกระทำของบริษัทหนึ่ง ให้มีผลผูกพันบริษัทในเครือด้วย เมื่อบริษัทในเครือแต่ละบริษัทได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน การกระทำกิจการใด ๆ หรือการทำนิติกรรมใด ๆ ของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดมีผลผูกพันบริษัทหรือไม่ ก่อให้เกิดหน้าที่และความรับผิดชอบเพียงใด ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธว่า ส. หรือจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้ไปทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 และไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดที่ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์เชิด ส. หรือจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 การที่บริษัท อ. เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของจำเลยที่ 4 จากจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 4 ถือเอาประโยชน์จากการเป็นตัวแทนของ ส. ได้ สัญญาว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 จึงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 30 ได้ให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อใช้บังคับในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ โดยได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกา ซึ่งข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540ข้อ 31 ศาลมีอำนาจอนุญาตให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำผู้ให้ถ้อยคำนั้นมาเบิกความเป็นพยานต่อหน้าศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อข้อกำหนดดังกล่าวได้บัญญัติเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ค. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาแทนการนำ ค. มาเบิกความต่อศาลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาการบริหารกิจการและการจัดการธุรกิจทั่วไปแก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นทั่วโลก โดยใช้ชื่อในการประกอบธุรกิจว่า เฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์คอนซัลติง (Hainbok International Management Consulting) และได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจอย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาจำเลยทั้งสี่เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทยนายสุรเดช มุขยางกูร ในฐานะตัวแทนของกลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการสรรหาผู้ร่วมลงทุนจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อการลงทุนในธุรกิจการโทรคมนาคมและการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียม โดยตกลงให้ค่าจ้างแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งค่าตอบแทนอีกจำนวนร้อยละของจำนวนเงินลงทุนที่ผู้ร่วมลงทุนได้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทจำเลยทั้งสี่จากการให้คำปรึกษาและการให้บริการของโจทก์ ต่อมาบริษัทในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีหลายบริษัทสนใจลงทุนในธุรกิจการโทรคมนาคมและการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมกับกลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์ชี้ช่อง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 นายสุรเดชในฐานะตัวแทนของกลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่ได้ทำหนังสือยืนยันการตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว จากการโจทก์ได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารของกลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่ และเข้าร่วมในการเจรจากับผู้บริหารของวิสาหกิจสัญชาติเกาหลีที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในกลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่จนเป็นผลให้บริษัทจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเข้าร่วมลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 4 เป็นเงินทั้งสิ้น 150,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดในการจ่ายเงินค่าตอบแทนจากผลสำเร็จของงานตามสัญญาในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนเงินดังกล่าวคิดเป็นเงิน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสี่แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวน 217,500 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 3,217,500 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ประกอบธุรกิจตามคำฟ้อง และไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติงตามคำฟ้องไม่ได้มีข้อตกลงดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่เป็นความตกลงในเรื่องอื่น นายสุรเดชมุขยางกูร ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มบริษัทและไม่ได้ลงนามในสัญญาในฐานะตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในการทำสัญญาตามคำฟ้องระบุชัดเจนว่านายสุรเดชทำในนามจำเลยที่ 1 สัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพราง เดิมเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง ได้ทำสัญญาที่มีข้อตกลงเดียวกันกับบริษัทจำเลยที่ 2 แต่การรับเป็นที่ปรึกษาดังกล่าวเป็นการทำงานให้บุคคลที่มีธุรกิจแข่งขันกันในลักษณะมีผลประโยชน์ขัดกัน ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตตามกฎหมายไทย เฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง จึงขอให้นายสุรเดช เข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 เพื่ออำพรางบุคคลที่สาม โจทก์ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เคยแนะนำหรือให้คำปรึกษาใด ๆ หรือร่วมเจรจาในการแสวงหาผู้ร่วมลงทุนให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยจ่ายเงินใด ๆ ให้โจทก์ ไม่มีบริษัทเกาหลีมาลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 4 จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำเลยอื่นตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริงจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือกับบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 และไม่ได้อยู่ในกลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 2 ไม่เคยมอบอำนาจหรือมอบหมายให้นายสุรเดช มุขยางกูร เป็นตัวแทนในการตกลงว่าจ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษากลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่ การที่นายสุรเดชทำหนังสือยืนยันการตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษาเป็นเรื่องของนายสุรเดชและ/หรือจำเลยที่ กับโจทก์เท่านั้น มิได้ทำในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว นอกจากนี้เงื่อนไขในสัญญาระบุชัดเจนว่าการที่จ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษานั้นไม่รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกิจการระบบดาวเทียมที่จำเลยที่ 1 อาจมีผลประโยชน์ ดังนั้น หากจะตีความว่านายสุรเดชได้กระทำไปในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่ จะเห็นได้ว่ากลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่มิได้หมายความรวมถึงจำเลยที่ 2 ด้วย เพราะจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการระบบดาวเทียมอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 2 เคยส่งเงินค่าจ้างและค่าใช้จ่ายให้โจทก์ มิได้เป็นการจ่ายเงินตามสัญญาว่าจ้างท้ายคำฟ้อง แต่เป็นการจ่ายค่าจ้างและค่าใช้จ่ายให้โจทก์ หรือเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง ตามสัญญาว่าจ้างที่จำเลยที่ 2 ได้เคยทำไว้ ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2539 ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อเนื่องกับสัญญาว่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับฝ่ายโจทก์ ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าตอบแทนตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง และหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือกับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยอื่น ๆ จำเลยที่ 3 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 สัญญาว่าจ้างตามคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจ 2 คน และประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 3 สัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่ได้แนะนำให้จำเลยที่ 3 รู้จักกับวิสาหกิจสัญชาติเกาหลี และโจทก์ไม่ได้เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 ในการเจรจากับวิสาหกิจสัญชาติเกาหลีให้มาลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 4 การลงทุนของวิสาหกิจสัญชาติเกาหลีหากจะมีจริงก็ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินค่าตอบแทนให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนเฮนบ็อก อิเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง หนังสือมอบอำนาจในการฟ้องคดีไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง จำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือกับบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และไม่ได้อยู่ในกลุ่มบริษัทจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 4 ไม่ได้มอบอำนาจหรือมอบหมายให้นายสุรเดช มุขยางกูร เป็นตัวแทนในการตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษาเป็นเรื่องของนายสุรเดชและ/หรือจำเลยที่ 1 กับโจทก์ไม่ได้ทำในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4การที่บริษัทจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้อง มิใช่เป็นผลสำเร็จจากการทำหน้าที่ให้บริการและคำปรึกษาของโจทก์ และมิใช่เป็นผลสำเร็จจากการเจรจาหรือแนะนำของโจทก์ ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าตอบแทนหรือเงินใด ๆ ตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้600,000 บาท

โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นอันดับแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้นำสืบถึงกฎหมายของมลรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าโจทก์สืบไม่ได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการในนามของเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง จำกัด ในฐานะส่วนตัวไม่ใช่นิติบุคคล จำเลยที่ 2และที่ 4 อุทธรณ์ว่า โจทก์สืบไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจกระทำการแทนเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง หนังสือรับรอง คำรับรอง ใบอนุญาตประกอบการและประกอบอาชีพ และใบอนุญาตครอบครองที่อยู่พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์มีอำนาจกระทำแทนเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า เฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง มิได้มีหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง จดทะเบียนเป็นองค์กรที่ปรึกษาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโดยมีโจทก์เป็นเจ้าของและมีอำนาจกระทำการแทนองค์กรแต่ผู้เดียว ตามคำรับรองพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเมื่อพิจารณาเอกสารหมาย จ.2 แล้ว เป็นแบบพิมพ์ของสำนักงานนายทะเบียนประจำศาลเซอร์กิตคอร์ตแห่งเมืองแฟร์แฟซ์ มลรัฐเวอร์จีเนีย (The office of the Clerk the Circuit Court of Fairfax county, Virginia) ซึ่งเป็นคำรับรองของบุคคลผู้ประกอบกิจการอยู่ภายในเขตมลรัฐเวอร์จิเนียโดยใช้นามสมมติหรือนามที่ตั้งขึ้น ซึ่งมีข้อความว่า โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอให้คำรับรองตามบทบัญญัติในมาตรา 59.1-69 ของกฎหมายแห่งมลรัฐเวอร์จิเนีย ปี 2493 ว่า ข้าพเจ้าประกอบกิจการที่ปรึกษาด้านการจัดการ อยู่ที่เลขที่ 7915 ทาวเวอร์เบล คอร์ต (Towerbell court) เมืองอันนันเดล (Annandale) มลรัฐเวอร์จิเนีย 22003 โดยใช้ชื่อ เฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง หาได้มีบุคคลอื่นใดมีสิทธิประโยชน์ไม่ว่าในลักษณะใดก็ตามในกิจการดังกล่าวและข้าพเจ้าเป็นเจ้าของและผู้ถือกรรมสิทธิ์ในกิจการดังกล่าวโดยสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียว โดยมีโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้คำรับรอง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539 และมีผู้ช่วยนายทะเบียนสำนักงานนายทะเบียนประจำศาลเซอร์กิตคอร์ตลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของโจทก์ กับมีนายทะเบียนสำนักงานนายทะเบียนประจำศาลเซอร์กิตคอร์ตโดยผู้ช่วยนายทะเบียนได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าได้มีการจดบันทึกคำรับรองดังกล่าว นอกจากนี้คำรับรองเอกสารหมาย จ.2 ยังมีผู้ช่วยนายทะเบียนสำนักงานนายทะเบียนประจำศาลเซอร์กิตคอร์ต เมืองแฟร์แฟกซ์ มลรัฐเวอร์จิเนีย ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องและประทับตราสำคัญของสำนักงานดังกล่าว โดยระบุว่าเอกสารต้นฉบับเก็บไว้ที่สำนักงานนั้น ฝ่ายจำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบหักล้างเอกสารหมาย จ.2 หรือข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าว ทั้งพฤติการณ์ของฝ่ายจำเลยในการติดต่อหรือทำสัญญากับเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติงเช่น ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.7 เป็นการติดต่อหรือทำสัญญากับโจทก์ในฐานะผู้แทนของเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง แต่เพียงผู้เดียว หรือการที่จำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าได้มีการทำสัญญากับเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง ตามเอกสารหมาย ล.1 และ จ.7 ซึ่งโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง แต่ผู้เดียว ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบ เท่ากับจำเลยทั้งสี่ยอมรับถึงสถานะของโจทก์ว่าโจทก์คือผู้แทนของเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาการบริหารกิจการ โดยใช้ชื่อทางธุรกิจว่า เฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยไม่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเฮนบ็อก อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเมนต์ คอนซัลติง ทั้งโจทก์ไม่จำเป็นต้องนำสืบถึงกฎหมายแห่งมลรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่อย่างใด

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจและสรรหาผู้ลงทุนตามคำฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงพร้อมคำแปลว่า นายคริสโตเฟอร์วิซาส ที่ปรึกษาฝ่ายกลยุทธและการเงินบริษัทจำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้โจทก์รู้จักกับนายสุรเดช มุขยางกูร และนายสุรเดชตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายกลยุทธแก่จำเลยทั้งสี่ในเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยเน้นการทำงานกับจำเลยที่ 2 แต่จะช่วยเหลือบริษัทอื่นในเครือของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยโจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โจทก์ได้เริ่มปฏิบัติงานเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2539 โดยเดินทางไปที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อศึกษานโยบายของรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีเกี่ยวกับนิติบุคคลต่างชาติที่ประกอบการแพร่สัญญาณทางดาวเทียม และศึกษาว่ามีบริษัทใดบ้างทำธุรกิจประเภทนี้ ต่อจากนั้นโจทก์ก็ได้เข้าร่วมประชุมกับบริษัทโคเรีย เทเลคอม จำกัด และบริษัทลัคกี้ โกลด์สตาร์ จำกัด โดยมีผู้แทนของจำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมด้วยและได้มีการประชุมต่อมาอีกหลายครั้ง โจทก์ได้เสนอข้อแนะนำแก่นายสุรเดชเรื่องการดึงเอาบริษัทในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมาร่วมลงทุนในกิจการของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้งให้ปรึกษาแก่จำเลยทั้งสี่ทางโทรศัพท์และโทรสารหลายครั้ง และผลการปฏิบัติงานของโจทก์สามารถดึงบริษัทเอสเค เทเลคอม จำกัด จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีทำสัญญาซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 4 เป็นจำนวน 150,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนธันวาคม 2539 ซึ่งในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่กลุ่มบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าจ้างและค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์หลายครั้งตามเอกสารพร้อมคำแปลหมาย จ.29 ถึง จ.35 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ได้ทำหนังสือยืนยันข้อตกลงว่าจ้างโจทก์ด้วยวาจา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.7 และได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า ก่อนทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์เคยทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.1 หลังจากทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 แล้ว โจทก์ไม่เคยได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 อีกเลย ในข้อนี้โจทก์มีนายซังกิล ซอนนี่ คิม ซึ่งเคยทำงานและเป็นกรรมการบริษัทอยู่ในบริษัทเอสเค เทเลคอม จำกัด มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงพร้อมคำแปลว่า โจทก์ได้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและจัดหาผู้มาลงทุนในบริษัทจำเลยทั้งสี่ กับมีนางสาวแอน วรรณประทีป ทนายโจทก์ และนายเชษฐ เชษฐสันติคุณมาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่างเป็นบริษัทในเครือเดียวกันและนายสุรเดชเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสี่ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษาและสรรหาผู้ลงทุน มีหลักฐานเป็นหนังสือตามบันทึกยืนยันข้อตกลง 2 ฉบับ คือเอกสารหมาย ล.1 และ จ.7 บันทึกยืนยันข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งลงนามแทนโดยนายสุรเดชกับนายเชษฐ ส่วนบันทึกยืนยันข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 เป็นการลงนามระหว่างโจทก์กับนายสุรเดชในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญทำนองเดียวกันคือว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาและสรรหาผู้ลงทุนในอัตราค่าตอบแทนเดือนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นว่า นายสุรเดชแต่ผู้เดียวเป็นผู้เจรจาด้วยวาจาตกลงว่าจ้างโจทก์ตั้งแต่เริ่มแรกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ขณะนั้นจำเลยที่ 4 ยังใช้ชื่อว่า บริษัทเซ็นจูรี่ ยูนิเทคแอนด์คอนซัลเทนท์ จำกัด และนายสุรเดชหรือกรรมการอื่นของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นในขณะตกลงว่าจ้างโจทก์ครั้งแรกนั้น จำเลยที่ 4 ยังมิได้เข้ามาเป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 เพิ่งเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนตัวกรรมการบริษัทเป็นนายสุรเดชกับพวกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 นายสุรเดชจึงกระทำการในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น แต่ตามข้อบังคับบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กำหนดให้มีกรรมการบริษัท 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัท จึงจะสามารถทำกิจการต่าง ๆ ผูกพันบริษัทได้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีหนังสือมอบอำนาจให้นายสุรเดชไปทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ ดังนั้น การที่นายสุรเดชไปเจรจาตกลงว่าจ้างโจทก์ รวมทั้งทำหนังสือยืนยันข้อตกลงโดยลงลายมือชื่อร่วมกับนายเชษฐซึ่งขณะนั้นนายเชษฐก็ยังไม่เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างและขอเบิกเงินค่าตอบแทนกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามสัญญา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เชิดนายสุรเดชให้เป็นตัวแทนของบริษัทจำเลยที่ 2 และที่ 3 สัญญาว่าจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 จึงผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3เท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ว่า สัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย ล.1 มีกำหนดเวลา 1 ปี หรือเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแก่กัน และเมื่อโจทก์ได้ขอเบิกเงินค่าจ้างประจำเดือนมิถุนายน 2539 แล้ว โจทก์ก็มิได้เบิกเงินค่าจ้างอีกเลยจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2539 โจทก์กับนายสุรเดชก็ลงลายมือชื่อในบันทึกเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและหาผู้ร่วมดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ยกเว้นเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในระบบดาวเทียม ตกลงค่าจ้างเดือนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าตอบแทนจากผลสำเร็จของงานในอัตราร้อยละ 1 ของเงินที่นำมาลงทุนโดยโจทก์เป็นผู้แนะนำ และร้อยละ 2 ของเงินที่นำมาลงทุนโดยโจทก์ไม่เพียงแนะนำแต่ได้เข้าร่วมเจรจาด้วย สัญญาว่าจ้างเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 มีกำหนด 1 ปี หรือเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแก่กันตามสัญญาเอกสารหมาย จ.7 ได้ความจากคำเบิกความของนายเชษฐซึ่งเคยเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 พยานโจทก์ว่า ตอนแรกโจทก์ให้คำปรึกษาในการหาผู้ร่วมลงทุนในโครงการดาวเทียมและโครงการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม แต่เนื่องจากขณะนั้นโจทก์มีสัญญาเป็นที่ปรึกษาโครงการดาวเทียมของบริษัทไอไรออน จำกัด ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงเรื่องการรับจ้างทำงานอื่นที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันด้วย จึงทำให้โจทก์ต้องระงับการให้คำปรึกษาแก่จำเลยที่ 2 นายสุรเดชกับนายคริสโตเฟอร์ วิซาส จึงแจ้งให้พยานทราบว่าโจทก์จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่แทน ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เป็นบริษัทจำเลยที่ 4 และนายเชษฐเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถามค้านว่า ได้มีการจ่ายเงินเดือนในเดือนสุดท้ายให้แก่โจทก์คือเดือนมิถุนายน 2539 เนื่องจากโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นที่ปรึกษาให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วยเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ขัดกับบริษัทไอไรออน จำกัด ซึ่งคำเบิกความของนายเชษฐในข้อนี้เจือสมกับคำเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายจเรรัฐ ปิงคลาศัย กรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ที่ให้ถ้อยคำว่าหลังจากโจทก์เบิกเงินค่าจ้างประจำเดือนมิถุนายน 2539 แล้ว โจทก์มิได้เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 อีกเลย เพราะโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นที่ปรึกษา เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความในบันทึกยืนยันข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.7 ที่มีการตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษาด้านคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ยกเว้นด้านเกี่ยวข้องกับระบบดาวเทียมแล้ว จึงมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย ล.1 กันไปแล้วหลังจากเดือนมิถุนายน 2539 นายสุรเดชกับโจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างกันใหม่ตามบันทึกยืนยันข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 ดังนั้น สัญญาตามเอกสารหมาย จ.7 จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาอย่างสมบูรณ์ มิใช่นิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาตามเอกสารหมาย ล.1 ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ และตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างให้โจทก์เป็นที่ปรึกษาและจัดหาผู้ร่วมลงทุนจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้แก่จำเลยที่ 1 และบริษัทในเครือ โดยลงลายมือชื่อของนายสุรเดชในฐานะประธานฝ่ายกิจการสื่อสารและเทคโนโลยีบริษัทจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แม้นายสุรเดชจะเป็นเพียงกรรมการบริษัทคนหนึ่งในบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแต่เพียงลำพังเพื่อให้ผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ให้การปฏิเสธว่านายสุรเดชไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 1 และมิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาว่าจ้างตามบันทึกยืนยันข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งตรงกับสำเนาสัญญาเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 14 กรณีจึงต้องรับฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ตกลงว่าจ้างโจทก์ตามบันทึกยืนยันข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 แม้ในบันทึกยืนยันข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 จะมีข้อความกล่าวถึงจำเลยที่ 1 และบริษัทในเครือและโจทก์ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงว่าบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 ก็คือจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ถือว่าการกระทำของบริษัทหนึ่งให้มีผลผูกพันบริษัทในเครือด้วย เมื่อบริษัทในเครือแต่ละบริษัทได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันการกระทำกิจการใด ๆ หรือการทำนิติกรรมใด ๆ ของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดมีผลผูกพันบริษัทหรือไม่ ก่อให้เกิดหน้าที่และความรับผิดชอบเพียงใด ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธว่า นายสุรเดชหรือจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้ไปทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 และไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดที่ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์เชิดนายสุรเดชหรือจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 การที่บริษัทเอสเค เทเลคอม จำกัด เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 4 จากจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 4 ถือเอาประโยชน์จากการเป็นตัวแทนของนายสุรเดชได้ สัญญาว่าจ้างโจทก์ตามคำฟ้องจึงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 แต่ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในข้อนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า.. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์ว่านายคริสโตเฟอร์ วิซาส มิได้มาเบิกความเป็นพยานต่อศาล จึงต้องห้ามมิให้รับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพยานหลักฐานนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษต่างหากจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เว้นแต่กระบวนพิจารณาใดมิได้บัญญัติไว้ จึงให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลม ตามมาตรา 26 ทั้งมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในการออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อใช้บังคับในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ โดยได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกา ซึ่งข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2540 ข้อ 31 ศาลมีอำนาจอนุญาตให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำผู้ให้ถ้อยคำนั้นมาเบิกความเป็นพยานต่อหน้าศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนคดีนี้ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายคริสโตเฟอร์ วิซาส แทนการนำนายคริสโตเฟอร์ วิซาสมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายคริสโตเฟอร์ วิซาส เป็นพยานหลักฐานได้ แต่จะมีน้ำหนักให้รับฟังได้เพียงใดนั้นข้อกำหนดดังกล่าวข้อ 38 ระบุว่า ศาลต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงสภาพ ลักษณะและแหล่งที่มาของบันทึกถ้อยคำนั้นด้วย ดังนั้น บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายคริสโตเฟอร์ วิซาส จึงมิได้ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share