คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5114/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์และครอบครัวใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งหรือหวงห้ามไม่ให้ใช้ทางเดินแต่อย่างใด แต่กลับได้ความว่าจำเลยมีเจตนาให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมมาแล้วตั้งแต่ปี 2516 ดังนี้ การใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาใช่ใช้โดยถือวิสาสะไม่ เมื่อโจทก์ได้ใช้ทางดังกล่าวเป็นทางเดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้วจึงได้ภารจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวโจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่อาจใช้รถยนต์แล่นเข้าออกผ่านทางพิพาทได้คงใช้ทางพิพาทได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น ดังนี้เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางพิพาท ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวมา ทั้งก่อนที่โจทก์จะซื้อรถยนต์โจทก์ก็รู้อยู่แล้วว่า โจทก์ไม่อาจนำรถยนต์เข้าออกที่ดินและตึกแถวของโจทก์ผ่านทางพิพาทได้ เท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่นโจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 127043 จากเจ้าของเดิมเจ้าของเดิมและโจทก์ได้ใช้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 23421 เป็นทางเข้าออกสู่ซอยสุขุมวิท 22 เป็นทางกว้าง 2.50 เมตร ยาว 80 เมตรโดยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกิน10 ปีแล้ว จึงเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความ นอกจากนี้ที่ดินโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทางพิพาทดังกล่าวจึงเป็นทางจำเป็นด้วย ปี 2533จำเลยนำเสาเหล็ก 2 หลัก มาปักขวางทางดังกล่าว ทำให้โจทก์นำรถยนต์เข้าออกไม่ได้ ต้องเช่าที่จอดรถและเสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอมและทางจำเป็นในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 23421 เป็นทางกว้าง 2.50 เมตรยาวประมาณ 80 เมตร ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องต่อโจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนเสาเหล็กตามแผนที่สังเขปออกไปจากทางดังกล่าว และห้ามกระทำการใด ๆ เป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ในการใช้ทางดังกล่าวหากจำเลยไม่ดำเนินการรื้อถอนให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายกับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะรื้อถอนเสาเหล็กให้เรียบร้อยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ระหว่างที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 23421 เป็นของนายเสน สุขเหมือน บิดาจำเลย นายเสน ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของ บุคคลใดจะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินด้านในหรือออกมาต้องได้รับความยินยอมจากนายเสน หลังจากที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยจำเลยก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของตลอดมา ไม่เคยมีบุคคลใดนำยานพาหนะเข้าออกในที่ดินพิพาทเพียงแต่เจ้าของที่ดินด้านในใช้เป็นทางเดินเข้าออกเท่านั้น ก่อนที่จำเลยจะปักเสาเหล็ก 2 หลัก ในปี 2533ในที่ดินพิพาทมีเสาปักอยู่ก่อนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 23421 ที่ตั้งเดิมตำบลคลองตัน (คลองเตย) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร เป็นทางภารจำยอมสำหรับทางเดินเข้าออกของโจทก์และเป็นทางจำเป็นสำหรับทางรถยนต์เข้าออกของโจทก์เป็นทางกว้าง 2.50 เมตรยาวประมาณ 80 เมตร ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนเสาเหล็ก2 หลัก ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องและตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ออกจากทางพิพาท และห้ามกระทำการใด ๆ เป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ในการใช้ทางดังกล่าว หากจำเลยไม่ดำเนินการรื้อถอน ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและในส่วนที่ให้โจทก์รื้อถอนเสาเหล็ก2 หลัก ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องและตามภาพถ่ายหมาย จ.7 โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมสำหรับทางเดินนั้นชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกและจำเลยไม่ได้โต้แย้งนั้น เพราะจำเลยได้จดทะเบียนภารจำยอมเรื่องทางเดินให้แก่นายแช่ม ศรีสมบูรณ์เลิศ แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นทางพิพาทเพราะจะกระทบกระเทือนสิทธิของนายแช่ม การที่โจทก์ใช้ทางเดินพิพาทเป็นเรื่องถือวิสาสะมากกว่าที่จะได้สิทธิเป็นทางภารจำยอม เห็นว่า การที่โจทก์และครอบครัวใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งหรือหวงห้ามไม่ให้ใช้ทางเดินแต่อย่างใด เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำเบิกความของจำเลยที่รับว่า นายแช่มได้ฟ้องนายเสนและจำเลยว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม ปี 2516 คู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและจำเลยได้จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่นายแช่มจริง ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมมาแล้วตั้งแต่ปี 2516การใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาใช่ใช้โดยถือวิสาสะไม่ เมื่อโจทก์ได้ใช้ทางดังกล่าวเป็นทางเดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้วจึงได้ภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นสำหรับใช้เป็นทางเดินไม่ใช่ทางจำเป็นสำหรับรถยนต์ และเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินกับตึกแถวก็รู้สภาพของทางพิพาทดีอยู่แล้วว่ามีเสาเหล็กกั้นอยู่ไม่อาจใช้รถยนต์เข้าออกได้นั้น โจทก์นำสืบว่าจำเลยนำเสาไม้ 3 หลักมาปักในทางพิพาทเพื่อมิให้รถยนต์เข้าออกเมื่อกลางปี 2526หลักจากนั้นได้ถอนเสาไม้ออกเป็นช่วง ๆ เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นให้รถยนต์แล่นบนทางพิพาท และจำเลยใช้เสาเหล็กมาปักเมื่อปี 2532โจทก์ซื้อที่ดินและตกแถวเมื่อปี 2532 และซื้อรถยนต์เมื่อปี 2535เห็นว่า เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวโจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่อาจใช้รถยนต์แล่นเข้าออกผ่านที่พิพาทได้ คงใช้ทางพิพาทได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น และย่อมเป็นที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปว่าที่ดินและอาคารที่ไม่มีทางสำหรับรถยนต์แล่นเข้าออกได้นั้นย่อมมีราคาถูกกว่าที่ดินและอาคารที่มีทางให้รถยนต์แล่นเข้าออกได้โดยสะดวก ที่ดินและตึกแถวที่โจทก์ซื้อจึงเป็นราคาของที่ดินและตึกแถวที่รถยนต์ไม่อาจแล่นเข้าออกได้ ซึ่งโจทก์ย่อมรู้อยู่แล้ว แม้ว่าในสังคมปัจจุบันรถยนต์จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางพิพาทขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวมา ทั้งก่อนที่โจทก์จะซื้อรถยนต์โจทก์ก็รู้อยู่แล้วว่า โจทก์ไม่อาจนำรถยนต์เข้าออกที่ดินและตึกแถวของโจทก์ผ่านทางพิพาทได้ เท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์และไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยถอนเสาเหล็กที่ปักอยู่ในทางพิพาทออกไป
พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอที่ให้จำเลยรื้อถอนเสาเหล็ก 2 หลักออกจากทางพิพาทให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share