คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะโจทก์ฟ้องอธิบดีกรมโจทก์ไปราชการต่างจังหวัด รองอธิบดีกรมโจทก์เป็นผู้รักษาการแทนอธิบดีย่อมมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์และมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนโจทก์ได้เช่นเดียวกับอธิบดีตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายนพุทธศักราช 2515 ข้อ 42 วรรคสอง และข้อ 44 วรรคแรก รองอธิบดีจึงมีอำนาจลงนามในใบแต่งทนายความให้ฟ้องได้โดยมิต้องมีการมอบหมายจากอธิบดี ผู้แทนของกรมโจทก์คืออธิบดี จังหวัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกรมโจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมิใช่ผู้แทนของโจทก์ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ถึงตัวผู้ทำละเมิดนั้นจะถือว่าโจทก์รู้ยังไม่ได้ อธิบดีกรมโจทก์ได้รู้ถึงตัวผู้ทำละเมิดเมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2526 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีหน้าที่อยู่เวรยาม แต่ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปราชการที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 จึงไปราชการโดยไม่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าเวรทราบตามระเบียบซึ่งกำหนดว่า ผู้ใดไม่สามารถอยู่เวรวันใดได้ให้แจ้งหัวหน้าทราบ จึงไม่มีการจัดเวรยามอยู่รักษาการณ์ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ถูกคนร้ายลักไป การที่จำเลยที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องมีตามที่กำหนดไว้โดยไม่บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 จัดเวรยามแทนในเมื่อตนจะต้องไปราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่อาจมาอยู่เวรยามตามกำหนด จึงเป็นเหตุโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นของโจทก์ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานพัสดุของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นเวรยามรักษาความปลอดภัยห้องเก็บศาสตราภัณฑ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และเป็นหัวหน้ารับผิดชอบงานในหน้าที่พลาธิการทั้งหมด และมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งมีหน้าที่จัดเวรยามเฝ้ารักษาทรัพย์สินที่อยู่ในความรับผิดชอบด้วย จำเลยที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินของทางราชการประเภทศาสตราภัณฑ์โดยตรงโดยเฉพาะหน้าที่เก็บรักษาศาสตราภัณฑ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2522นายอำพันหรือขาว ซองทอง บุตรของจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับพวกอีกหลายคนใช้กุญแจเปิดประตูบุกรุกเข้าไปในห้องศาสตราภัณฑ์และร่วมกันลักเอาเครื่องศาสตราภัณฑ์ซึ่งเก็บไว้ในห้องศาสตราภัณฑ์ไปคิดเป็นราคา 177,756.25 บาท เหตุเกิดขึ้นเพราะในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มาเข้าเวรยามอันเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ของทางราชการและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและเป็นความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ 1 ที่ไม่อยู่เวรยามหรือเมื่อมีเหตุจำเป็นไม่อาจอยู่เวรยามได้ จำเลยที่ 1ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อจัดให้ผู้อื่นเข้าเวรยามแทน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ประมาทเลินเล่อไม่เอาใจใส่ดูแลกวดขันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่เวรยามตามระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือจัดผู้อยู่เวรยามแทนจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1ไม่อยู่ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีหน้าที่เก็บกุญแจเปิดปิดประตูห้องศาสตราภัณฑ์ด้วย แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กลับประมาทเลินเล่อมอบกุญแจดังกล่าวให้นายอำพันหรือขาวบุตรชายของตนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้นำไปใช้ไขเปิดปิดประตูห้องศาสตราภัณฑ์ดังกล่าวเสมอมาและจำเลยที่ 2 ยังเคยใช้ให้นายอำพันหรือขาวขนเครื่องศาสตราภัณฑ์เข้าออกห้องเสมอทำให้นายอำพันหรือขาวรู้ลู่ทางในห้องเก็บอย่างดี จนกระทั่งวันเกิดเหตุจึงได้ใช้กุญแจดังกล่าวเปิดประตูห้องพาพวกไปลักเครื่องศาสตราภัณฑ์ของโจทก์ไปได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับศาสตราภัณฑ์ของโจทก์โดยตรงและมีหน้าที่ดูแลตรวจตราห้องเก็บเครื่องศาสตราภัณฑ์ แต่จำเลยที่ 3 กลับละเลยไม่หมั่นตรวจตราดูแลเป็นเหตุให้คนร้ายลักเครื่องศาสตราภัณฑ์ของโจทก์ไปได้ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน105,871.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2ให้การทำนองเดียวกันว่า นายโชดก วีรธรรมพูลสวัสดิ์ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะฟ้องคดีเกิน 1 ปีหลังจากที่ทราบเหตุแห่งละเมิดและรู้ตัวผู้พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนโจทก์ได้ทรัพย์สินที่คนร้ายลักไปคืนมาหมดแล้ว โจทก์จึงไม่เสียหายตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อโดยละทิ้งหน้าที่เวรยามเพราะในช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้ไปราชการที่กรุงเทพมหานคร กลับมาถึงจังหวัดนครพนมหลังเกิดเหตุแล้ว ส่วนการจัดหาเวรยามอยู่แทนจำเลยที่ 1 นั้น ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมซึ่งทราบเรื่องดีย่อมมีหน้าที่จัดหาคนมาอยู่เวรยามแทนมิใช่หน้าที่ของจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จริง แต่เฉพาะงานพลาธิการของทางราชการตำรวจเท่านั้น ทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องเจ้าหน้าที่ของโจทก์นำมาฝากไว้แก่ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมโดยตรงและเก็บไว้ในอาคารต่างหากจากอาคารของพลาธิการตำรวจที่จำเลยที่ 2 ทำงานอยู่การขนย้ายเครื่องศาสตราภัณฑ์เจ้าหน้าที่ของโจทก์ดำเนินการเองโดยไม่จำเป็นต้องให้จำเลยที่ 2 รับรู้เพราะเป็นคนละสายงานกันจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจทราบได้ว่าทรัพย์สินที่โจทก์นำมาฝากไว้มีอะไรบ้าง จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังแล้วความเสียหายของโจทก์มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2แต่ประการใด บุตรชายของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุเรียนหนังสืออยู่ที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร มิได้เป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่เคยมอบกุญแจห้องศาสตราภัณฑ์ให้บุตรชายหรือแม้กระทั่งให้มายุ่งเกี่ยวกับสถานที่ราชการเลย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2ไปราชการต่างอำเภอและผลการสอบสวนปรากฏว่าคนร้ายเข้าทางช่องลมมิได้เข้าออกทางประตูที่ใส่กุญแจไว้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาไม่จำเป็นต้องอยู่เวรยามทุกวัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิใช่ผลโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบงานพลาธิการและต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินของทางราชการรวมทั้งศาสตราภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเป็นผู้เก็บกุญแจห้องเก็บทรัพย์สินและเครื่องศาสตราภัณฑ์ไว้ด้วย เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่อยู่เวรยามตามหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ 2เก็บรักษากุญแจห้องไม่ดีทำให้นายอำพันหรือขาว ซองทอง บุตรของจำเลยที่ 2 ลักกุญแจดังกล่าวไขห้องเก็บศาสตราภัณฑ์ของโจทก์ แล้วร่วมกับพวกลักเครื่องศาสตราภัณฑ์บางส่วนของโจทก์ไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 105,871.25บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จโดยให้แบ่งชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้โจทก์คนละกึ่งหนึ่งโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าอธิบดีโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายโชดกรองอธิบดีลงนามแต่งตั้งทนายความฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนายฉลองอธิบดีโจทก์ไปราชการต่างจังหวัด นายโชดกรองอธิบดีโจทก์เป็นผู้รักษาการแทนอธิบดี เช่นนี้ ในช่วงนั้นนายโชดกผู้รักษาการแทนอธิบดีย่อมมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ และมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนโจทก์ได้เช่นเดียวกับอธิบดีตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2515 ข้อ 42 วรรคสองและข้อ 44 วรรคแรก นายโชดกจึงมีอำนาจลงนามในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีโดยมิต้องมีการมอบหมายจากอธิบดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อสองว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมมีหน้าที่แทนตัวโจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมรู้ถึงตัวผู้ที่ทำละเมิดเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีจึงขาดอายุความ เห็นว่าผู้แทนของโจทก์คือ อธิบดี จังหวัดนครพนมนั้นเป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมจึงมิใช่ผู้แทนของโจทก์การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมรู้ถึงตัวผู้ทำละเมิดนั้นจะถือว่าโจทก์รู้ยังไม่ได้ กรณีของจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าอธิบดีโจทก์ได้รู้ถึงตัวผู้ทำละเมิด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาสุดท้ายว่า มิได้ทำละเมิดด้วย ตามข้อเท็จจริงที่ยุตินั้น เหตุที่คนร้ายลักเอาเครื่องศาสตราภัณฑ์ที่เก็บไว้ในคลังพัสดุไปได้ เนื่องจากในวันเกิดเหตุไม่มีเวรยามอยู่ตามระเบียบซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่อยู่เวรยาม ผู้ที่มีหน้าที่อยู่เวรยามตามที่จัดไว้ได้มีระเบียบกำหนดตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15ว่า ผู้ใดไม่สามารถอยู่เวรวันใดได้ให้แจ้งหัวหน้าเวรทราบ จำเลยที่ 1ได้รับคำสั่งจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมให้ไปราชการที่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 จึงไปราชการโดยไม่แจ้งให้จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหัวหน้าเวรทราบ จึงไม่มีการจัดเวรยามอยู่รักษาการณ์เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ถูกคนร้ายลักไป เห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องมีตามที่กำหนดไว้โดยไม่บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 จัดเวรยามแทนในเมื่อตนจะต้องไปราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่อาจมาอยู่เวรยามตามกำหนด ทำให้ไม่มีเวรยามอยู่ดูแลเป็นโอกาสให้คนร้ายเอาทรัพย์สินที่เก็บไว้ในคลังพัสดุไปได้เช่นนี้ การละเลยต่อหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเหตุโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นของโจทก์ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย”
พิพากษายืน

Share