คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 51 จะบัญญัติหน้าที่ของกระทรวงเจ้าสังกัดจำเลยที่ 1 เพียงรับตรวจสอบเรื่องขอรับบำเหน็จตกทอด นำส่งให้ถึงกระทรวงการคลังและให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาสั่งก็ตามเมื่อกองทัพอากาศจำเลยที่ 1 ได้เสนอความเห็นส่งต่อไปถึงกระทรวงการคลัง ขอให้กันบำเหน็จตกทอดส่วนของภรรยาไว้ เพราะภรรยาคนแรกของผู้ตายยังมิได้ดำเนินการให้ศาลสั่งว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายเป็นโมฆะ จนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดส่วนของโจทก์นั้น ถือได้แล้วว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ผู้ตายอยู่กินฉันสามีภรรยากับ ส.ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และยังไม่ขาดจากการสมรส ต่อมาผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลแสดงว่าการสมรสของโจทก์เป็นโมฆะ จะถือว่าโจทก์ไม่เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดส่วนของภรรยา
ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความได้ ฉะนั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ได้แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรที่จะวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนก็ชอบจะทำได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาของเรืออากาศเอกเกื้อ เมื่อเรืออากาศเอกเกื้อถึงแก่กรรม โจทก์จึงมีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของผู้ตาย แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธการเบิกจ่าย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินบำเหน็จตกทอดจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับเรืออากาศเอกเกื้อ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ได้ปฏิเสธสิทธิของโจทก์ จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องรับผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการเบิกจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๙,๙๒๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เรืออากาศเอกเกื้อ อยู่กินฉันสามีภรรยากับนางสงวนก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และยังไม่ขาดจากการสมรส ต่อมาผู้ตายสมรสกับโจทก์ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายโจทก์ขอรับบำเหน็จตกทอดในฐานะภรรยาและในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ จำเลยที่ ๑ ได้เสนอความเห็นไปยังกระทรวงกลาโหม ขอให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่บุตรผู้เยาว์ก่อน และขอกันส่วนของภรรยาไว้ เพราะนางสงวนยังมิได้ดำเนินการให้ศาลสั่งว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายเป็นโมฆะจำเลยที่ ๑ ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า
๑. จำเลยที่ ๑ มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๕๑ จะบัญญัติหน้าที่ของกระทรวงเจ้าสังกัดจำเลยที่ ๑ เพียงรับตรวจสอบนำส่งให้ถึงกระทรวงการคลังและให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาสั่งก็ตาม เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้เสนอความเห็นส่งต่อไปถึงกระทรวงการคลัง ขอให้กันบำเหน็จตกทอดส่วนของภรรยาไว้ จนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดส่วนของโจทก์นั้น ถือได้แล้วว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
๒. เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ชายหรือหญิงมีคู่สมรสที่ถูกต้องได้เพียงคนเดียว ฉะนั้นจะถือว่าเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ ภรรยาทั้งสองก็เป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายด้วยกันหาได้ไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ชัดว่า คำพิพากษาศาลเท่านั้นจะแสดงว่าการสมรสใดเป็นโมฆะ ฉะนั้นตราบใดที่ไม่มีคำพิพากษาศาลแสดงว่าการสมรสของโจทก์เป็นโมฆะ จะถือว่าโจทก์ไม่เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหาได้ไม่โจทก์จึงมีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดในส่วนของภรรยา
๓. ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดเพียงใด ฉะนั้นศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๐ ฉะนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ได้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรที่จะวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนก็ชอบที่จะทำได้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓
พิพากษายืน

Share