คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4576/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าฝ่ายใดผิดนัดผิดสัญญานั้นจะต้องพิจารณาการกระทำประกอบกับเจตนาที่ฝ่ายนั้นได้แสดงออกว่าจะไม่นำพาต่อการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่เป็นสำคัญ แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 20 ตุลาคม 2532เวลา 11 นาฬิกา ก็ตาม แต่เวลา 11 นาฬิกาที่กำหนดนัดหมายนั้นต้องหมายถึงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายไปพร้อมกันเพื่อเริ่มดำเนินการตามแบบพิมพ์ของทางราชการ มิใช่หมายถึงเวลาที่ทำการโอนเสร็จ ฉะนั้นถ้าทนายความซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนโจทก์ไปถึงตามเวลานัดหมายและแจ้งให้ทนายฝ่ายจำเลยทราบ ถึงเรื่องที่จะดำเนินการต่อไปเช่นนี้ ถือได้ว่าฝ่ายโจทก์ได้ไปตามเวลาที่นัดหมายแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ จำเลยที่ 2 ยังแถลงคัดค้านอยู่ จำต้องมีการไต่สวนทั้งสองฝ่ายว่าความจริงเป็นประการใด จึงจะวินิจฉัยได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาแต่ศาลชั้นต้นมิได้ไต่สวนในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอให้วินิจฉัย การวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดโดยที่ยังมิได้มีข้อเท็จจริงให้เป็นประการใดนั้นจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โดยสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองลงวันที่14 กันยายน 2532 มีข้อความว่า
“ข้อ 1. จำเลยทั้งสองตกลงยินยอมโดยจำเลยที่ 2 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 781หมู่ที่ 1 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เนื้อที่ดิน 2 งาน (200 ตารางวา) ให้แก่โจทก์ หรือบุคคลหรือนิติบุคคลใดที่โจทก์กำหนดและโจทก์ตกลงชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2ตามราคาซื้อขายในสัญญาพิพาทนี้เป็นจำนวนเงิน 120,000 บาทนอกจากนี้โจทก์ยังยินยอมชำระค่าเสียหาย (ถือเป็นค่านายหน้าที่จำเลยที่ 2 เสียไป) อีกจำนวน 100,000 บาท
ข้อ 2. โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงจะไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวในวันที่ 20 ตุลาคม ศกนี้ เวลา11 นาฬิกา ณ สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการโอนของโจทก์และค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดินนี้ ตลอดจนค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จำเลยที่ 2 จะต้องเสียนั้น โจทก์จะเป็นผู้ชำระเองทั้งสิ้น
ข้อ 3. หากโจทก์ไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวพร้อมกับชำระค่าที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ตามกำหนดในข้อ 2 แล้วให้ถือว่าโจทก์ผิดนัด โจทก์จะไม่ติดใจที่จะฟ้องร้องใด ๆเกี่ยวกับจำเลยทั้งสองและที่ดินแปลงนี้อีกต่อไป
แต่หากจำเลยไม่ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ตามกำหนดในข้อ 2แล้ว ยินยอมให้โจทก์ถือเอาคำพิพากษานี้เป็นการแสดงเจตนาโอนแทนได้ทันที
ข้อ 4. สัญญายอมความในคดีนี้ให้มีผลบังคับรวมกันกับคดีแพ่งที่โจทก์นี้เป็นโจทก์ฟ้องที่ศาลนี้อีก จำนวน 6 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ 974/2532, 1205/2532, 1206/2532, 1213/2532,1358/2532 นี้ด้วยและให้ถือว่าเงินค่านายหน้า 100,000 บาทตามข้อ 1 นั้นเป็นค่านายหน้ารวมทั้ง 6 คดีนี้
ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2532 เวลา 15.25 นาฬิกา จำเลยที่ 2ยื่นคำร้องว่า เมื่อเวลา 10.30 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยเอกสารสิทธิและเอกสารอื่นอันจำเป็นในการจดทะเบียนเพื่อจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์ ปรากฏว่าจนถึงเวลา 11.15 นาฬิกา โจทก์ไม่มาตามนัด จำเลยที่ 2 รออยู่จนถึงเวลา 12 นาฬิกา โจทก์ไม่มาตามนัด จำเลยที่ 2 รออยู่จนถึงเวลา 12 นาฬิกา จึงได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกเป็นหลักฐานไว้และไม่ประสงค์จะโอนที่ดินให้โจทก์ต่อไป ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินงดเว้นการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย ในวันเดียวกันกับที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องนั้นเมื่อเวลา 16.20 นาฬิกา โจทก์ก็ยื่นคำร้องว่า โจทก์ได้มอบหมายให้นายมนู รัตนาสิน ทนายโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม ถึงเมื่อเวลา 10.45 นาฬิกา และแจ้งให้ทนายจำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์กำลังดำเนินการให้ธนาคารออกเช็คให้จะเดินทางตามมาขอให้แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ในการทำนิติกรรมให้ โจทก์เดินทางไปถึงสำนักงานที่ดินเมื่อเวลา 12.10 นาฬิกา พร้อมทั้งเช็คและเงินสดจำนวน3,696,000 บาท เพื่อชำระให้จำเลยที่ 2 และขอให้ดำเนินการโอนสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้โจทก์แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว แต่เจ้าพนักงานไม่ดำเนินการให้โจทก์จึงได้ให้เจ้าพนักงานบันทึกไว้ตามภาพถ่ายบันทึกท้ายคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม โอนสิทธิในที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นนัดสอบถาม ในวันนัดสอบถามโจทก์แถลงยืนยันตามบันทึกท้ายคำร้องของโจทก์ ทนายจำเลยแถลงคัดค้านคำร้องของโจทก์อ้างว่าโจทก์ผิดนัดศาลชั้นต้นพิจารณาเฉพาะคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ผิดนัดโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้สัญญาประนีประนอมยอมความในข้อ 2จะกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวในวันที่ 20 ตุลาคม 2532 เวลา 11 นาฬิกา ก็ตามการที่จะพิจารณาว่าฝ่ายใดผิดนัดผิดสัญญานั้นจะต้องพิจารณาการกระทำประกอบกับเจตนาที่ฝ่ายนั้นได้แสดงออกมาว่าจะไม่นำพาต่อการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่เป็นสำคัญ ตามคำร้องของโจทก์อ้างว่าได้มอบหมายให้ทนายไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม เมื่อเวลา 10.45 นาฬิกาและได้แจ้งให้ทนายจำเลยที่ 2 ทราบโดยขอให้เจ้าพนักงานเตรียมหลักฐานการโอนไว้และโจทก์ได้ไปถึงสำนักงานที่ดินพร้อมทั้งเช็คและเงินสดที่จะชำระให้จำเลยที่ 2 เมื่อเวลา 12.10 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่โจทก์อ้างในคำร้องแล้ว กรณีก็ไม่อาจจะถือได้ว่าโจทก์ผิดนัดผิดสัญญา เพราะเวลา 11 นาฬิกา ที่กำหนดนัดหมายในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นต้องหมายถึงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายไปพร้อมกันเพื่อเริ่มดำเนินการตามแบบพิธีของทางราชการมิใช่หมายถึงเวลาที่ทำการโอนเสร็จเรียบร้อย การที่ทนายโจทก์ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนโจทก์ไปถึงตามเวลานัดหมายและแจ้งให้ทนายฝ่ายจำเลยทราบถึงเรื่องที่จะดำเนินการต่อไปเช่นนี้ ถือได้ว่าฝ่ายโจทก์ได้ไปตามเวลาที่นัดหมายแล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์นั้น จำเลยที่ 2แถลงคัดค้านอยู่ จะต้องมีการไต่สวนทั้งสองฝ่ายว่าความจริงเป็นประการใด จึงจะวินิจฉัยได้ว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้ไต่สวนในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไปได้ว่าโจทก์ผิดนัด ผิดสัญญาหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดโดยที่ยังมิได้มีข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจะเป็นประการใดนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจกท์และจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share