แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในส่วนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ตามฟ้อง จำเลยร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2519 มาตรา 36 ทวิ หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินรวมทั้งที่ดินตาม ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งห้า ย่อมเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) แล้ว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จึงอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงและคัดค้านเอกสารที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด การที่โจทก์ที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิยกเรื่องการสืบสิทธิการออก ส.ป.ก. 4-01 ขึ้นต่อสู้และนำพยานหลักฐานมาพิจารณาเข้าด้วยกันในคราวเดียวกับคำฟ้องเดิมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเฉพาะส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อการเกษตรกรรมของจำเลยร่วมกับห้ามโจทก์ที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วมจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1074 เป็นของโจทก์ทั้งสอง และมีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. 4-01 เลขที่ 750 เล่ม 8 หน้า 50 เลขที่ 4047 เล่ม 41 หน้า 47 เลขที่ 4048 เล่ม 41 หน้า 48 เลขที่ 4049 เล่ม 41 หน้า 49 เลขที่ 4050 เล่ม 41 หน้า 50 อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดิน และร่วมกันชำระค่าเสียหาย 200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองกับค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งห้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ออกเสียจากสารบบความและมีคำสั่งเรียกสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเข้าเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข)
จำเลยที่ 1 ที่ ถึงที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยร่วมให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อเกษตรกรรมของจำเลยร่วมเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1074 และห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมและฟ้องแย้ง แต่ต่อมาศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลฟ้องแย้งทั้งหมด
จำเลยร่วมอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยร่วมในส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อเกษตรกรรมของจำเลยร่วม กับห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วมไว้ดำเนินการกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้รับฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเฉพาะส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อการเกษตรกรรมของจำเลยร่วมกับห้ามโจทก์ที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วมไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1074 ตำบลนาหว้า อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ซื้อมาจากการขายทอดตลาด เมื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินจึงทราบว่านางแสงมารดาของจำเลยทั้งห้านำที่ดินบางส่วนไปออก ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 5 ฉบับ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำเลยทั้งห้ายังอ้างว่าที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งห้า ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1074 เป็นของโจทก์ที่ 1 และมีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. 4-01 ทั้งห้าฉบับตามฟ้อง ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินและร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่าครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด การออก ส.ป.ก. 4-01 ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3ให้การว่าครอบครองที่ดินพิพาทมากว่า 10 ปี การออก ส.ป.ก. 4-01 โดยโจทก์ไม่คัดค้านคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในส่วนที่ดินตาม ส.ป.ก. 4-01 ทั้งห้าฉบับตามฟ้องว่าดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 1 จะขอให้เพิกถอนหรือห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องไม่ได้ เมื่อปรากฏว่า ในส่วนที่ดินตาม ส.ป.ก. 4-01 ตามฟ้อง จำเลยร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2519 มาตรา 36 ทวิ หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินรวมทั้งที่ดินตาม ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งห้าย่อมเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแล้ว จำเลยร่วมผู้ร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่จึงอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงและคัดค้านเอกสารที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด การที่โจทก์ที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิยกข้อต่อสู้ในเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องกับโจทก์ที่ 1 ในการสืบสิทธิการออก ส.ป.ก. 4-01 และนำพยานหลักฐานมาพิจารณาเข้าด้วยกันในคราวเดียวกับคำฟ้องเดิมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเฉพาะส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อการเกษตรกรรมของจำเลยร่วมกับห้ามโจทก์ที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วม ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ