คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3997/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้มีชื่อ เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 โต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกัน ส่วนการที่จำเลยที่ 2 รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ก็โดยอาศัยหลักฐานการครอบครองที่ดินพิพาทอันได้แก่ ส.ค.1 เป็นการใช้สิทธิตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) และมาตรา 3 ให้อำนาจไว้ และเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นผู้เสียหายมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ ส่วนการที่พนักงานสอบสวนกระทำการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดมาดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด ก็เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนได้กระทำไปตามอำนาจแห่งบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้อันเป็นเรื่องการปฎิบัติงานของพนักงานสอบสวนเองหากโจทก์จะต้องเสียหายจากการไปที่สถานีตำรวจหรือจะต้องเสียหายประการใด ก็เป็นผลโดยตรงอันเนื่องจากการวินิจฉัยของพนักงานสอบสวน สำหรับการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีโจทก์เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตใจว่าหลักฐานการครอบครองที่ดินพิพาท ส.ค.1 เป็นหลักฐานการครอบครองซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริตฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 55 ที่ให้ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิใช้สิทธิฟ้องร้องผู้โต้แย้งสิทธิทางศาลได้ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำผิดต่อกฎหมาย หรือไม่ได้ใช้สิทธิอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายจึงมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ครอบครองที่ดินมือเปล่า เนื้อที่40 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2521 โดยร่วมกันบุกเบิกแผ้วถางกับนายจำเนียร คานภู่ สามีและบุตรเพื่อปลูกมันสำปะหลัง โจทก์ชำระภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2527รัฐมนตรีว่าการกระทำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชีในท้องที่ตำบลเบิกไพร อำเภอจอมบึงจังหวัดราชบุรี เป็นป่าสงวนแห่งชาติที่ดินที่โจทก์ครอบครองจึงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และกรมป่าไม้ประกาศให้ผู้ทำกินอยู่ก่อนไปยื่นคำร้องว่ามีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2527 โจทก์จึงมอบให้นายจำเนียรไปยื่นคำร้อง ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2529 นายจำเนียรนำเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ไปทำการสอบสวนพิสูจน์สิทธิหรือได้ทำประโยชน์ของโจทก์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2533จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยได้กล่าวโทษร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอจอมบึงว่าโจทก์และนายจำเนียรร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งซื้อมาจากนายมิ่ง สงวนมิ่ง โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ติดต่อขาย พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ไว้และควบคุมตัวโจทก์และนายจำเนียรไปดำเนินคดี ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการจังหวัดราชบุรี วันที่ 25 กรกฎาคม 2533 พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์และนายจำเนียร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์และนายจำเนียรต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายมิ่งโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อซื้อขาย และจำเลยที่ 2เข้าทำกินในที่ดินพิพาทแทนนายมิ่งเกินกว่า 10 ปี แล้ว เมื่อเดือนเมษายน 2533 โจทก์และสามีจงใจละเมิดการครอบครองโดยเข้าไปไถและปลูกมันสำปะหลังในที่ดินพิพาท ขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์ได้เข้าไปบุกเบิกและครอบครองทำกินมาตั้งแต่ปี 2521 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาทุกปีขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 1ยื่นอุทธรณ์และคดีถึงที่สุดในวันที่ 11 กันยายน 2536 โจทก์ขอถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการรบกวนการอยู่อย่างปกติสุขของโจทก์ กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่า โจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2521 และโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่าโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2521 แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสองและนายมิ่ง แต่จำเลยทั้งสองยังคงดำเนินคดีแก่โจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในปี 2533 และ 2534 ได้ดังเช่นทุกปี โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ โจทก์ต้องจ้างทนายความเข้าแก้ต่างทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท และการที่จำเลยทั้งสองเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและฟ้องขับไล่โจทก์จนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 ทำให้โจทก์ไม่อาจทำกินในที่ดินพิพาทเป็นเวลา 2 ปีขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินรวม 212,000 บาทและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์และสามีนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโจทก์คงเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนบัดนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องและให้จำเลยที่ 1เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมรวมค่าทนายความให้โจทก์ครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์มาเรียกร้องค่าทนายความที่โจทก์ไปจ้างมาเองจากจำเลยทั้งสองอีกได้ไม่ เป็นเรื่องนอกสำนวนและจำเลยทั้งสองก็ไม่รู้เห็นตกลงด้วย ค่าทนายความในคดีดังกล่าวเป็นอันยุติแล้วโจทก์มาฟ้องเรียกค่าทนายความในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำและไม่มีมูลหนี้แต่อย่างใด ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้ทำกินในที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ให้การว่าไม่ได้ทำกินเพราะจำเลยขัดขวาง โจทก์กับบ้านให้การว่าไม่ได้ทำกินในที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ให้การว่าไม่ได้ทำกินเพราะจำเลยขัดขวาง โจทก์กลับให้การว่าเข้าทำประโยชน์ตลอดมาหากโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท ก็น่าจะยื่นฟ้องแย้งเข้ามา โจทก์ได้ประโยชน์จากที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์ไม่ได้เสียหายเพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตั้งแต่เดือนเมษายน 2533 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ในส่วนละเมิดเรื่องขาดรายได้จากการปลูกมันสำปะหลังเป็นฟ้องเกิน1 ปี นับแต่วันที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองทำละเมิดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2534 จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ และการที่จำเลยที่ 1ฟ้องขับไล่โจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปร้องทุกข์ และการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้อื่น เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 โต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกันการที่จำเลยที่ 2 รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็โดยอาศัยหลักฐานการครอบครองที่ดินพิพาทอันได้แก่ ส.ค.2 เลขที่ 1031 เป็นการใช้สิทธิตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) และมาตรา 3 ให้อำนาจไว้ เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นผู้เสียหายมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ และการที่พนักงานสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดมาดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดก็เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนได้กระทำไปตามอำนาจแห่งบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้อันเป็นเรื่องการปฎิบัติงานของพนักงานสอบสวนเอง หากโจทก์จะต้องเสียหายจากการไปที่สถานีตำรวจหรือจะต้องเสียหายประการใด ก็เป็นผลโดยตรงอันเนื่องมาจากการวินิจฉัยของพนักงานสอบสวนเองส่วนการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีโจทก์ก็ไม่ปรากฎว่า จำเลยที่ 1มีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตใจว่าหลักฐานการครอบครองที่ดินพิพาท ส.ค.1 เลขที่ 1031 ดังกล่าว เป็นหลักฐานการครอบครองซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริตฟ้องโจทก์ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ที่ให้ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิใช้สิทธิฟ้องร้องผู้โต้แย้งสิทธิทางศาลได้ จำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำผิดต่อกฎหมาย หรือหาได้ใช้สิทธิอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใดไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่โจทก์ดังกล่าว จึงมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share