แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบังคับคดียึดที่ดินจำนองของโจทก์ออกขายทอดตลาดเป็นการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น การที่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้เกินไปกว่าหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดของศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องคืนเงินที่ได้รับเกินไปแก่โจทก์ แม้ว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่กรณีของจำเลยที่ 3 เป็นการสวมสิทธิโดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นโจทก์ถ้ามีการฟ้องคดีอยู่ในศาล และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถ้าได้มีคำพิพากษาบังคับแล้ว ผลแห่งการเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ได้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องและเข้าถือเอากระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ที่ได้ดำเนินไปก่อนแล้วทั้งหมดเป็นการกระทำของตน โดยเฉพาะเมื่อขณะจำเลยที่ 3 เข้าสวมสิทธิ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงเข้ามาทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ย่อมรับผลทั้งหลายที่เกิดจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งในฐานะโจทก์และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้มีการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่เกิดจากผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างนั้น และย่อมมีหน้าที่คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในส่วนที่ได้รับเกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 32,585,159.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,813,895.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 9,813,895.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องเนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์และบุคคลอื่นเป็นจำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ 17514/2534 ของศาลแพ่ง เพื่อให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้เป็นเงิน 217,318,311.64 บาท ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2540 ศาลแพ่งพิพากษาคดีดังกล่าวตามคดีหมายเลขแดงที่ 30066/2540 ของศาลแพ่ง ให้จำเลยที่ 5 (โจทก์คดีนี้) ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่น เป็นเงิน 192,933,037.68 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ จำเลยที่ 5 (โจทก์คดีนี้) อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2549 จำเลยที่ 5 (โจทก์คดีนี้) ฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 (โจทก์คดีนี้) ร่วมรับผิดเป็นเงิน 1,275,320.54 บาทพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระหนี้ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12885 และ 12923 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยที่ 5 (โจทก์คดีนี้) แต่ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์คดีดังกล่าว (จำเลยที่ 1 คดีนี้) นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองทั้งสองแปลงดังกล่าว และวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงได้เงิน 13,100,000 บาท โดยโจทก์คดีดังกล่าว (จำเลยที่ 1 คดีนี้) เป็นผู้ประมูลซื้อและวางเงินชำระค่าที่ดินจำนวน 966,400 บาท ส่วนที่เหลือขอชำระโดยหักส่วนได้ใช้แทน โดยจำเลยที่ 1 คดีนี้ รับโอนที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วในวันที่ 21 ธันวาคม 2543 เห็นว่า การบังคับคดียึดที่ดินจำนองของโจทก์ออกขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ 30066/2540 เป็นการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามหมายบังคับคดีของศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นและได้เสร็จลงโดยชอบตามหมายบังคับคดี ไม่มีการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การที่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้เกินไปกว่าหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดของศาลฎีกา จึงไม่ใช่กรณีจำเลยที่ 1 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ซื้อทอดตลาดชำระราคาที่ดินไม่ครบถ้วน แต่เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องคืนเงินที่ได้รับเกินไปแก่โจทก์ แม้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินดังกล่าวไปด้วยการหักส่วนได้ใช้แทนในการชำระราคาที่ดินที่ซื้อทอดตลาด และจำเลยที่ 3 อ้างว่าเพิ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่กรณีของจำเลยที่ 3 เป็นการสวมสิทธิโดยอาศัยพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นโจทก์ถ้ามีการฟ้องคดีอยู่ในศาล และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถ้าได้มีคำพิพากษาบังคับแล้ว ผลแห่งการเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ได้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องและเข้าถือเอากระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ที่ได้ดำเนินไปก่อนแล้วทั้งหมดเป็นการกระทำของตน โดยเฉพาะคดีนี้เมื่อขณะจำเลยที่ 3 เข้าสวมสิทธิ คดียังไม่ถึงที่สุดแต่ก็มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงเข้ามาทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ย่อมรับผลทั้งหลายที่เกิดจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งในฐานะโจทก์และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้มีการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว เมื่อต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ให้โจทก์รับผิดน้อยลง จำเลยที่ 3 ซึ่งเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้รับโอนทั้งสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดและสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักประกันของสินทรัพย์มา จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่เกิดจากผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างนั้น จำเลยที่ 3 ย่อมมีหน้าที่คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในส่วนที่ได้รับเกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์โดยตรง ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าข้อเท็จจริงจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเกินไปจึงต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ซึ่งถ้าหากมีอยู่ต่อกันอย่างไรในการเข้าสวมสิทธิ ก็หาใช่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาอื่นของจำเลยที่ 3 เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ