แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความในฎีกาฉบับแรกตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย กับข้อความในฎีกาฉบับที่สองตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย ล้วนแต่เป็นข้อความเดียวกันทั้งสิ้น โดยฎีกาของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฉบับไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ด้วยเหตุที่ไม่รับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับของผู้ร้องคัดค้านไว้วินิจฉัยนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวรสกล ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชชา ผู้ตาย ต่อมาผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
(1) ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 จำนวน 2 ฉบับ และวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์คำร้องของผู้ร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 จำนวน 2 ฉบับ และฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 แล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งเกี่ยวข้องกับคำร้องทั้งสามฉบับดังกล่าวไว้โดยชอบด้วยเหตุผลตามกฎหมายแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้องคัดค้านทั้งสามฉบับดังกล่าว
ผู้ร้องคัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง
(2) ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำขอตั้งผู้จัดการมรดกร่วมและถอนผู้จัดการมรดกฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลตรวจคำร้องฉบับนี้โดยละเอียดแล้ว เห็นว่า เนื้อหาโดยรวมของคำร้องฉบับนี้มีประเด็นเดียวกับคำร้องฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 จำนวน 2 ฉบับ และฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ของผู้ร้องคัดค้านและคำร้องทั้งสามฉบับดังกล่าว ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องไปแล้ว ตามคำสั่งลงวันที่ 22 เมษายน 2558 ต่อมาผู้ร้องคัดค้านได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว ในชั้นนี้จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องฉบับนี้
ผู้ร้องคัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า อุทธรณ์ข้อ (1) ของผู้ร้องคัดค้านไม่ได้คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าไม่ชอบอย่างไร กลับมีลักษณะและเหตุผลเหมือนกับคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกดังเช่นที่ผู้ร้องคัดค้านเคยยื่นมาแล้ว อีกทั้งยังกล่าวอ้างเอาเหตุผลหรือข้อคัดค้านในเอกสารอื่นโดยไม่นำมากล่าวไว้ให้เห็นในคำฟ้องอุทธรณ์ อุทธรณ์ของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ส่วนอุทธรณ์ข้อ (2) ที่อ้างว่าผู้ร้องคัดค้านใช้สิทธิคัดค้านในฐานะผู้สืบสิทธิทายาทโดยธรรมของนางซู่หู หากศาลมีคำสั่งรับไต่สวนคำร้องก็จะพิจารณาได้อย่างรวดเร็วดีกว่าอุทธรณ์และฎีกาคำร้องเดิมนั้น อุทธรณ์ของผู้ร้องคัดค้านในส่วนนี้ก็ไม่ได้มีการคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายด้วยเหตุผลอะไร อุทธรณ์ของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งเช่นกัน พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฉบับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้องคัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ผู้ร้องคัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาฎีกาของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฉบับแล้วปรากฏว่า ข้อความในฎีกาฉบับแรกตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย กับข้อความในฎีกาฉบับที่สองตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย ล้วนแต่เป็นข้อความเดียวกันทั้งสิ้น โดยฎีกาของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฉบับไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ด้วยเหตุที่ไม่รับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับของผู้ร้องคัดค้านไว้วินิจฉัยนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฉบับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องคัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ