แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเรื่องเงินบำเหน็จ กำหนดว่า บริษัทฯ จะพิจารณาจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงาน ที่มีอายุการทำงาน ดังนี้ (ก) ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนเต็มเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีของอายุงาน หารด้วย 2 (ข) ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนเต็มเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีของอายุงาน 1 1 อายุงาน ถืออายุการทำงาน 365 วัน เป็นหนึ่งปีเศษของปี ถ้าถึง 183 วัน ให้ปัดเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึง183 วัน ตัดทิ้ง 2 อายุการทำงาน หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่พนักงาน เข้าประจำทำงานในบริษัทฯ ในฐานะพนักงานจนถึงก่อนวันพ้น จากตำแหน่งในบริษัทฯ ตามเงื่อนไข ดังนี้โดย มิได้รับเงินเดือน ไม่ให้นับเป็นอายุการทำงาน (2) ระยะเวลาที่พนักงานหยุดงานเพื่อพักรักษาตัวเนื่องจาก การประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย เพราะเหตุปฏิบัติงานให้แก่บริษัทฯ และได้รับเงินเดือนตามปกติ ให้นับเป็นอายุการทำงานเต็มตามระยะเวลานั้น เห็นได้ว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว คำว่า อายุงานกับ อายุการทำงาน มีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ อายุงานคิดเป็นจำนวนปีเพื่อใช้ในการคำนวณเงินบำเหน็จของลูกจ้างแต่ละคนโดยใช้เป็นตัวคูณเงินเดือนเต็มเดือนสุดท้ายว่าลูกจ้าง คนใดมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวนเท่าใด การนับอายุงาน ให้ถือ 365 วันเป็นหนึ่งปี เศษของปี ถ้าถึง 183 วันให้ปัดเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึง 183 วัน ก็ให้ตัดทิ้งส่วนอายุการทำงานนั้น เป็นระยะเวลาตามที่ลูกจ้างแต่ละคนได้ทำงานจริง ๆ โดยนับเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ลูกจ้างคนนั้นเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ออกจากงานตามเงื่อนไขที่ว่า ระยะเวลาที่ลูกจ้างลา ขาดงาน หรือถูกสั่งพักงานโดยมิได้รับเงินเดือนไม่ให้นับเป็นอายุการทำงาน แต่ระยะเวลาที่ลูกจ้างหยุดงานเพื่อรักษาตัวเนื่องจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพราะเหตุปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างและได้รับเงินเดือนตามปกติให้นับเป็นอายุการทำงานเต็มตามระยะเวลานั้นเมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปี 6 เดือน 16 วัน หรือ 9 ปี 196 วันกรณีถือได้ว่าโจทก์มีอายุการทำงานติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาโจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลย รวมเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปี 6 เดือน 16 วัน หรือ 9 ปี 196 วันซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 11เรื่องเงินบำเหน็จ กำหนดว่า อายุงานให้ถือ 365 วัน เป็นหนึ่งปีเศษของปีถ้าถึง 183 วัน ให้ปัดเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึง 183 วันตัดทิ้งจึงต้องถือว่าโจทก์ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปีโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อ 11.1 (ข) เป็นเงิน460,000 บาท แต่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์เพียง 5 ปีเป็นเงิน 230,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จอีก230,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 11.1 (ก)เนื่องจากโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยเพียง9 ปี 6 เดือน 16 วัน หรือ 9 ปี 196 วัน ถือว่าอายุการทำงานของโจทก์ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 11.1 (ก)เท่ากับเงินเดือนเต็มเดือนสุดท้าย คูณด้วย จำนวนปีของอายุงานหารด้วย 2 เป็นเงิน 230,000 บาท จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าที่โจทก์อุทธรณ์ว่า อายุงานตามที่จำเลยกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 11 เรื่องเงินบำเหน็จ ให้ปัดเศษของปีโดยถือ 365 วันเป็นหนึ่งปี เศษของปีถ้าถึง 183 วันให้ปัดเป็นหนึ่งปีถ้าไม่ถึง 183 วันให้ตัดทิ้ง โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปี 6 เดือน 16 วัน หรือ 9 ปี 196 วัน ถือว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามฟ้องนั้น เห็นว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 11 เรื่องเงินบำเหน็จกำหนดว่า “11.1 บริษัทฯ จะพิจารณาจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานที่มีอายุการทำงาน ดังนี้
(ก) ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนเต็มเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีของอายุงานหารด้วย 2
(ข) ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนเต็มเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีของอายุงาน 1
1 อายุงาน ถืออายุการทำงาน 2 365 วัน เป็นหนึ่งปีเศษของปี ถ้าถึง 183 วัน ให้ปัดเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึง 183 วัน ตัดทิ้ง
2 อายุการทำงาน หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานในบริษัทฯ ในฐานะพนักงานจนถึงก่อนวันพ้นจากตำแหน่งในบริษัทฯ ตามเงื่อนไข ดังนี้
(1) ระยะเวลาที่พนักงานลา ขาดงาน หรือถูกสั่งพักงานโดยมิได้รับเงินเดือน ไม่ให้นับเป็นอายุการทำงาน
(2) ระยะเวลาที่พนักงานหยุดงานเพื่อพักรักษาตัวเนื่องจากการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย เพราะเหตุปฏิบัติงานให้แก่บริษัทฯ และได้รับเงินเดือนตามปกติ ให้นับเป็นอายุการทำงานเต็มตามระยะเวลานั้น” เห็นได้ว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว คำว่า อายุงาน กับอายุการทำงาน มีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ อายุงานคิดเป็นจำนวนปีเพื่อใช้ในการคำนวณเงินบำเหน็จของลูกจ้างแต่ละคนโดยใช้เป็นตัวคูณเงินเดือนเต็มเดือนสุดท้ายว่าลูกจ้างคนใดมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนเท่าใด การนับอายุงานให้ถือ 365 วัน เป็นหนึ่งปีเศษของปี ถ้าถึง 183 วันให้ปัดเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึง 183 วัน ก็ให้ตัดทิ้งส่วนอายุการทำงานนั้น เป็นระยะเวลาตามที่ลูกจ้างแต่ละคนได้ทำงานจริง ๆ โดยนับเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ลูกจ้างคนนั้นเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ออกจากงานตามเงื่อนไขที่ว่าระยะเวลาที่ลูกจ้างลา ขาดงาน หรือถูกสั่งพักงานโดยมิได้รับเงินเดือนไม่ให้นับเป็นอายุการทำงาน แต่ระยะเวลาที่ลูกจ้างหยุดงานเพื่อรักษาตัวเนื่องจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างและได้รับเงินเดือนตามปกติให้นับเป็นอายุการทำงานเต็มตามระยะเวลานั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปี 6 เดือน16 วัน หรือ 9 ปี 196 วัน กรณีถือได้ว่าโจทก์มีอายุการทำงานติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 11.1(ก) ทั้งในการคำนวณเงินบำเหน็จดังกล่าวให้โจทก์นั้นเห็นได้ว่า จำเลยได้ปัดเศษของปีที่โจทก์ทำงานจาก 196 วันเป็นหนึ่งปี รวมเป็นอายุงานของโจทก์ 10 ปี เป็นเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 230,000 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน