แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ไม้ยางเป็นไม้หวงห้ามไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดในราชอาณาจักรการตัดฟันลงจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับสัมปทาน จำเลยตัดฟันไม้ยางซึ่งแม้จะขึ้นอยู่ในที่ดินของจำเลยเองก็มีความผิด การครอบครองไม้ที่ตัดฟันลงดังกล่าวโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายย่อมเป็นความผิดด้วย ไม้ดังกล่าวจึงเป็นไม้ที่ต้องริบ
ความผิดฐานตัดฟันลงซึ่งไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามแล้วครอบครองไม้นั้น เป็นการกระทำสองกรรมต่างกันเป็นความผิดสองกระทงซึ่งมีกำหนดโทษเท่ากัน คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทมาตราต่าง ๆ ทั้งสองกระทง แล้วพิพากษาจำคุก 6 เดือนและปรับ 2,000 บาท โดยมิได้กล่าวว่าลงโทษตามมาตราใด นั้น เป็นการลงโทษในอัตราโทษขั้นต่ำของความผิดกระทงเดียวโดยมิได้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 2ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษเรียงกระทงความผิดให้ถูกต้องได้แต่จะแก้โทษให้หนักขึ้นไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๕ ถึงวันที่ ๒๗มิถุนายน ๒๕๑๕ เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยบังอาจตัดฟันไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ซึ่งขึ้นอยู่ในที่ดินของจำเลย ๑ ต้นปริมาตรเนื้อไม้ ๗.๘๔ ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยบังอาจมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้ยาง ๑ ต้นดังกล่าวซึ่งยังไม่ได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายประทับไว้ เจ้าพนักงานได้ไม้ดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑, ๖๙, ๗๓, ๗๔พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖, ๑๖, ๑๗พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕, ๑๒, ๑๗และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑, ๖๙, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖, ๑๖, ๑๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕, ๑๒, ๑๗ จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก ๓ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกรอไว้ ๒ ปีของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องและศาลสั่งริบของกลางไม่ชอบ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยตัดไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินของจำเลย และได้ครอบครองไม้นั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ววินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๔ นั้น ไม้ยางเป็นไม้หวงห้ามไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดในราชอาณาจักร การตัดฟันลงจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับสัมปทานตามมาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖ หากฝ่าฝืนก็มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ ส่วนการครอบครองไม้ดังกล่าวโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย ก็มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓มาตรา ๑๒ การตัดฟันไม้และการครอบครองไม้ของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ไม้ของกลางเป็นไม้ที่ได้มาจากการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ จึงต้องริบ
อนึ่ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นสองกรรมต่างกัน เป็นสองกระทงความผิดซึ่งโทษของทั้งสองกระทงความผิดนี้กำหนดไว้เท่ากันคือ จำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาทถึง ๒๐,๐๐๐บาท ศาลล่างทั้งสองมิได้เรียงกระทงลงโทษ ลงโทษมาในอัตราโทษขั้นต่ำของฐานความผิดกระทงเดียว ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒
พิพากษาแก้ เป็นให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ กระทงหนึ่ง และมาตรา ๖๙แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๒อีกกระทงหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษจำเลย ศาลฎีกาจะพิพากษาลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษมาแล้วไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๒, ๒๒๕ โทษของจำเลยจึงคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์