คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่าพ่อค้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(1) ต้องถือตามความรู้สึกของประชาชนธรรมดาทั่วๆ ไป เข้าใจกัน. คือหมายถึงบุคคลที่ประกอบการค้าโดยทำการซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเป็นปกติธุระ. ไม่หมายความถึงผู้ประกอบการค้า ซึ่งไม่ได้ทำการซื้อและขายสินค้า.ธนาคารพาณิชย์ซึ่งประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์. ไม่ใช่พ่อค้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(1). จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปีตามบทมาตราดังกล่าว.
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง. จำเลยให้การรับว่า ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องจริง. แต่ต่อสู้ว่าลงชื่อในฐานะกรรมการกระทำการแทนบริษัทนิติบุคคล. ไม่มีเจตนาค้ำประกันเป็นส่วนตัว. ตามคำให้การจำเลยถือได้ว่า จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันจริง. แม้สัญญาค้ำประกันนั้นจะมิได้ปิดอากรแสตมป์. ซึ่งตามประมวลรัษฎากรห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง. คดีก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐาน. เพราะมีประเด็นแต่เพียงว่าจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันเป็นส่วนตัวหรือไม่.
การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น. จะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอนและมีผลว่า ในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้. หากเพียงแต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้.ยังถือไม่ได้ว่า. เป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้.เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อไรก็ได้.
การที่หนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว. เจ้าหนี้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานโดยมิได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้น.เป็นสิทธิของเจ้าหนี้โดยชอบ. มิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ค้ำประกัน. (ข้อกฎหมายตามวรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่11/2512).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งสินค้าจากต่างประเทศโดยผ่านธนาคารในประเทศอังกฤษ ซึ่งธนาคารดังกล่าวได้ส่งใบกำกับสินค้ามาให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ออกเงินค่าสินค้าแทนจำเลยไป 27,352.57 บาท โดยจำเลยทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้ไว้ว่าจะชำระเงินคืนแก่โจทก์ภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2499และตกลงด้วยว่าจะปฏิบัติต่อกันตามประเพณีธนาคาร และจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินที่โจทก์จ่ายแทนไป จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องโดยยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าไปขายแล้วแต่ไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันหรือแทนกันชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 68,115.25 บาท จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า ได้ชำระเงินให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย เพราะไม่มีข้อตกลงหากเรียกได้ก็ไม่เกิน 5 ปี ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องจริง แต่ลงชื่อในฐานะกรรมการกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาเกือบ 10 ปี จนกระทั่งจำเลยที่ 1 เลิกกิจการและหลักทรัพย์หมดสิ้นเป็นการกระทำละเมิดและผ่อนเวลาชำระหนี้ จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดนอกจากนี้ขอถือเอาคำให้การจำเลยที่ 1 เป็นข้อต่อสู้ด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์27,352.52 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจำนวน5 ปี เป็นเงิน 20,514.43 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันในต้นเงินนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมา 1. จำเลยฎีกาว่า ในคำฟ้องของโจทก์กล่าวไว้ชัดแจ้ง ซึ่งได้ความว่าโจทก์เป็นพ่อค้า จำเลยเป็นลูกค้าผู้เคยค้ากับโจทก์ โจทก์ได้เรียกร้องเอาค่าส่งมอบของและค่าดูแลสินค้าซึ่งเข้าหลักเกณฑ์มาตรา 165(1) มีอายุความเพียง 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้น เป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของการธนาคารพาณิชย์ มีปัญหาว่า ธนาคารโจทก์เป็นพ่อค้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) หรือไม่ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่าพ่อค้าไว้ ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า พ่อค้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) นั้น ต้องถือตามความรู้สึกของประชาชนธรรมดาทั่ว ๆ ไปเข้าใจกัน คือหมายถึงบุคคลที่ประกอบการค้าโดยทำการซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเป็นปกติธุระผู้ประกอบการค้าโดยไม่ได้ทำการซื้อและขายสินค้านั้น ไม่ถือว่าเป็นพ่อค้าตามความหมายแห่งมาตรา 165(1) ดังจะเห็นได้จากข้อความในมาตรา 165(1) ว่า บุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ฯลฯ ถ้าประมวลกฎหมายนี้มีความมุ่งหมายว่า ผู้ประกอบการค้าเป็นพ่อค้าด้วยแล้ว ก็ควรจะใช้คำว่าพ่อค้าเช่นเดียวกับมาตรา 165(1)การที่ไม่ใช่ถ้อยคำอย่างเดียวกัน จึงเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการค้าหาจำเป็นต้องเป็นพ่อค้าเสมอไปไม่ ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 4ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าธนาคารพาณิชย์นั้น ประกอบการค้าประเภทรับฝากเงิน ฯลฯ เป็นหลักและประกอบกิจการต่าง ๆ ตามวิธีการธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ธนาคารโจทก์จึงไม่ใช่พ่อค้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ 2. จำเลยฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ใช้เป็นหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามคำให้การของจำเลยที่ 2รับว่าได้ลงชื่อไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันที่โจทก์ฟ้องจริงแต่ต่อสู้ว่า ลงนามค้ำประกันในฐานะกรรมการกระทำการแทนในนามบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาค้ำประกันเป็นการส่วนตัว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ค้ำประกันหนี้รายนี้ต่อโจทก์จริง ไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี อ้างฎีกาที่ 1189/2494ศาลอุทธรณ์มิได้รับฟังสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐาน ที่จำเลยฎีกาว่าตามคำให้การจำเลยที่ 2 เท่ากับปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันนั้น ไม่มีเหตุผลควรรับฟัง เพราะตามคำให้การจำเลยนั้นจำเลยรับแล้วว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันจริง เป็นแต่ต่อสู้ว่าไม่ได้ค้ำประกันในฐานะส่วนตัว ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า จำเลยทำสัญญาค้ำประกันเป็นส่วนตัวหรือไม่เท่านั้น ส่วนสัญญาค้ำประกัน ก็คงรับอยู่แล้วว่าได้ทำจริง 3. จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาค้ำประกัน ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2499 โจทก์ปล่อยเวลาล่วงเลยมาเกือบ10 ปี เป็นการผ่อนเวลาให้ลูกหนี้และศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ได้กระทำละเมิดตามข้อต่อสู้ของจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 700 นั้น หมายความว่ามีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้น โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องไม่ได้ เพียงแต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ โจทก์ไม่ได้เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ เพราะโจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อไรก็ได้ และการที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานาน โดยมิได้เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก็เป็นสิทธิของโจทก์โดยชอบ มิใช่การกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2 4. จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า ข้อหาตามฟ้องของโจทก์นอกจากเรื่องค่าธรรมเนียม ไม่เคลือบคลุม พิพากษายืน.

Share