คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3988/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า บังอาจ ก็เท่ากับว่ามีเจตนาทุจริตอยู่แล้วที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันกระทำการฉ้อโกงโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 สัญญาขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้วยังนำไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 และไม่ไถ่ถอนทั้งที่ทราบดีว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ย่อมมีความหมายเป็นที่เข้าใจแจ้งชัดแล้วว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตและความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ก็หาได้บัญญัติว่าจะต้องมีเจตนาทุจริตไม่ ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินตาม น.ส.3 ให้แก่โจทก์กับพวกโดยให้สัญญาจะจดทะเบียนเปลี่ยนสิทธิครอบครองให้โจทก์กับพวกภายในปี พ.ศ. 2515 โจทก์กับพวกเข้าครอบครองที่ดินโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปจดทะเบียนตามสัญญา ครั้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันฉ้อโกงโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วไม่ไถ่ถอนภายใน 1 ปี ตามสัญญา โดยจำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่า โจทก์กับพวกจะใช้สิทธิทางศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนสิทธิครอบครองที่ดินตามสัญญา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เห็นว่าไม่มีมูลให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันกระทำการฉ้อโกงโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 สัญญาขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้วยังนำไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 และไม่ไถ่ถอนทั้งที่ทราบดีว่าโจทก์กับพวกจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ดังนี้ ย่อมมีความหมายเป็นที่เข้าใจแจ้งชัดอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต เพราะคำ “บังอาจ” ก็เท่ากับว่ามีเจตนาทุจริตอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามความผิดตามมาตรา 350 กฎหมายก็หาได้บัญญัติว่าจะต้องมีเจตนาทุจริตไม่ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว

พิพากษายืน

Share