แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์และผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดินในซอยได้ใช้ซอยดังกล่าวเป็นทางสัญจรไปตามแนวเสาไฟฟ้า ซึ่งผ่านไปตามที่ดินพิพาทมาเกิน 10 ปีแล้ว ดังนี้ ที่ดินพิพาทย่อมเป็นทางภารจำยอม ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิประเภทที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิที่ผูกพันอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเป็นสามยทรัพย์ไม่ใช่ทรัพยสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้นแม้เจ้าของภารยทรัพย์จะเปลี่ยนตัวไปก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมสิ้นไป ภารจำยอมจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อภารยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้สิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1397หรือ 1399 มาตรา 1299 ที่บัญญัติว่า “สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้นมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว” นั้น หมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกันกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียน การที่จำเลยอ้างการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์ จึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิอันเดียวกันจำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทต้องสิ้นไปหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำให้เสื่อมสภาพต่อการใช้และลดความสะดวกในการใช้ทางภารจำยอมที่โจทก์และครอบครัวได้ใช้ประโยชน์สัญจรไปมา ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตบางส่วนออกไปจากที่ดินดังกล่าว และทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพดีเหมือนเดิมภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์จ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยใช้ค่าใช้จ่ายของจำเลย และห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในลักษณะขัดขวางการใช้ทรัพยสิทธิภารจำยอมของโจทก์ตลอดไป
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่เป็นทางภารจำยอม จำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิไว้โดยสุจริตแล้ว โจทก์อ้างสิทธิซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิไว้จึงต้องห้ามตามกฎหมาย ซอยยังมีความกว้าง 3.20 เมตรตลอดแนวซึ่งรถยนต์สิบล้อสามารถผ่านเข้าออกไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่สร้างขึ้นบนที่ดินพิพาทโฉนดที่ 8789 และทำที่ดินให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ดำเนินการจ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย และห้ามจำเลยกับบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในลักษณะขัดขวางการใช้ทรัพยสิทธิภารจำยอมของโจทก์ตลอดไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ว่าหากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์ดำเนินการจ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดินในซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ ได้ใช้ซอยดังกล่าวเป็นทางสัญจรไปตามแนวเสาไฟฟ้าต้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ซึ่งผ่านไปตามที่ดินพิพาทมาเกิน 10 ปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทางภารจำยอม ที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่า การได้ภารจำยอมแล้วไม่จดทะเบียนภารจำยอมให้ถูกต้องก็ควรเสียสิทธิ โดยห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง เห็นว่า ภารจำยอมจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อภารยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปี ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1397 หรือมาตรา 1399และภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิประเภทที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิที่ผูกพันอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเป็นสามยทรัพย์ไม่ใช่ทรัพยสิทธิส่วนตัวบุคคล ดังนั้นแม้เจ้าของภารยทรัพย์จะเปลี่ยนตัวไปก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ ส่วนมาตรา 1299 ที่บัญญัติว่า “สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว” นั้น หมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพย์สิทธิอันเดียวกันกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น กรณีตามที่จำเลยอ้างเป็นการใช้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์ จึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพย์สิทธิอันเดียวกัน จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทต้องสิ้นไปหาได้ไม่”
พิพากษายืน