คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้าง หรือตัวแทน หรือผู้ถูกจ้างวานใช้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยในขณะกระทำการในทางที่จ้างให้จำเลยที่ 2 หรือกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้กระทำการแทน และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าตนเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขับรถยนต์ไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้กระทำ และถือเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้ เช่นนี้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาท จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คู่กรณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 174,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 174,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนายจ้างหรือตัวการซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนกระทำการตามที่มอบหมายต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 3847 ปราจีนบุรี จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้าง หรือตัวแทน หรือผู้ถูกจ้างวานใช้ของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ปท 8906 กรุงเทพมหานคร โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยในขณะกระทำการในทางที่จ้างให้จำเลยที่ 2 หรือกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้กระทำการแทน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 174,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ปท 8906 กรุงเทพมหานคร ไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำและเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 3847 ปราจีนบุรี ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายทั้งคัน จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 174,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง การสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 นั้น ศาลต้องสั่งให้ชัดแจ้งว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องโจทก์หรือฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 สั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับยังไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 174,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share