คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานซึ่งนายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานเป็นเงินของลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างยังไม่ตายและออกจากงาน นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง เมื่อลูกจ้างตายเงินดังกล่าวจึงเป็นมรดกของผู้ตาย มิใช่สินสมรสระหว่างผู้ตายกับภริยา ระเบียบข้อบังคับของนายจ้างในการจ่ายเงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานที่กำหนดให้ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิได้รับไปครึ่งหนึ่ง กับบุคคลที่ลูกจ้างระบุไว้ในหนังสือรับรองทายาทอีกครึ่งหนึ่งนั้น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายจรัส มโนรัตน์ ผู้ตายมีภริยา 2 คน คือโจทก์และนางถนอมจิตต์ มโนรัตน์ โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรกับผู้ตาย 1 คน คือ นางสาวรัติกร มโนรัตน์ ส่วนนางถนอมจิตต์มิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย มีบุตรกับผู้ตาย 3 คนคือ จำเลย นายจรวดและนายเรวัฒน์ ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่31 มกราคม 2529 ก่อนถึงแก่กรรมเคยรับราชการเป็นทหารอากาศ และได้ลาออกไปเป็นพนักงานของบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัดเมื่อผู้ตายถึงแก่กรรม แล้วทางกองทัพอากาศจะจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาท และบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ก็จะจ่ายเงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงาน เงินฌาปนกิจสงเคราะห์เงินประกันอุบัติเหตุที่บริษัทได้เอาประกันภัยให้แก่ทายาท หลังจากจำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2529 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์ให้แก่โจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินจำนวน1,555,813.79 บาท ที่บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จะจ่ายให้แก่ทายาทนั้น จำเลยตกลงให้หักออกจำนวน 100,000 บาท เป็นค่าทำศพของผู้ตายที่โจทก์ทดรองจ่ายไปก่อนมอบให้โจทก์ เงินส่วนที่เหลือจำเลยจะมอบให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 727,906.89 บาท ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2529 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไปขอรับเงินจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เฉพาะส่วนของจำเลยนายจรวด และนายเรวัฒน์เท่านั้น ส่วนของนางสาวรัติกรจำเลยมิได้จัดการคงให้นางสาวรัติกรไปขอรับเอาเอง เงินส่วนของโจทก์นั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ไปขอรับเอาโดยมิได้ระบุว่าจะนำมามอบให้โจทก์ โจทก์จึงได้ทักท้วงต่อบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยจำกัด และจนบัดนี้จำเลยก็มิได้จัดการ ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลจัดการแบ่งทรัพย์มรดกเงินจำนวน 827,906.89 บาท ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ขอรับจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด มามอบให้โจทก์ หากจำเลยไม่จัดการด้วยเหตุใด ๆ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาของจำเลยในการขอรับเงินจำนวน 827,906.89 บาท จากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด มามอบให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจะต้องแบ่งปันทรัพย์สินให้แก่ทายาททั้งสี่ของเจ้ามรดก คือ นางสาวรัติกรตัวจำเลย นายจรวดและนายเรวัฒน์ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตาย ทั้งนี้เพราะผู้ตายทำหนังสือรับรองเกี่ยวกับทายาทไว้ที่บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ระบุไว้ว่าให้บุตรทั้งสี่ได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อผู้ตายถึงแก่กรรม บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จะต้องจ่ายเงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงาน เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และเงินประกันอุบัติเหตุให้แก่ทายาทที่ระบุไว้ในเอกสารท้ายคำให้การ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น1,555,813.79 บาท ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องไปขอรับเงินดังกล่าวมาแบ่งปันให้บุตรทั้งสี่ของผู้ตาย การที่จำเลยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามภาพถ่ายท้ายคำฟ้องนั้น จำเลยมิได้กระทำไปโดยสมัครใจและโดยมิได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น เอกสารท้ายคำให้การมีผลเท่ากับเป็นพินัยกรรมในการแบ่งปันมรดกและเงินที่ได้รับจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ให้แก่ทายาทโดยธรรมทั้งสี่บุคคลอื่นจึงถูกตัดมิให้ได้รับมรดก โจทก์ได้คัดค้านการที่จำเลยขอรับเงินจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จำเลยจึงต้องรับมาเพียงกึ่งหนึ่งที่ไม่มีปัญหามาแบ่งให้แก่จำเลย นายจรวดและนายเรวัฒน์ รวมเป็นเงินประมาณ 540,000 บาท และต่อมาจำเลยได้ยินยอมให้นางสาวรัติกรรับส่วนของนางสาวรัติกรไปจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด อีกประมาณ 190,000 บาทเงินค่าทำศพของผู้ตายได้ใช้จ่ายไปจริงเพียงไม่เกิน 40,000 บาทซึ่งทายาททุกคนรวมทั้งโจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องจัดการและออกค่าใช้จ่ายร่วมกัน โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกร้องถึง 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งเงินที่จะได้จากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จำนวน297,680.19 บาท และเงินค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท ให้โจทก์คำขออื่นจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า เงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงาน ซึ่งบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จะจ่ายให้แก่ผู้ตายเมื่อออกจากงานนั้น มิใช่มีลักษณะเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย แต่เป็นเงินที่มีและเกิดขึ้นด้วยการที่ผู้ตายลงทุน(บริษัทหักสะสมไว้) เท่ากับลงทุนด้วยสินเดิมหรือสินส่วนตัวของผู้ตายโดยแท้ ด้วยเหตุนี้จึงถือไม่ได้ว่าทรัพย์สินของโจทก์อยู่ในกองมรดกของผู้ตายด้วยนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานนี้ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัดคิดให้ 2.25 เท่าของเงินเดือน เดือนสุดท้ายต่ออายุงาน 1 ปีเงินดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเงินของผู้ตาย ถ้าผู้ตายยังไม่ตายและออกจากงานบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ก็ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้ตายตามระเบียบข้อบังคับของทางบริษัท ดังนี้เงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานจึงเป็นมรดกของผู้ตายมิใช่สินสมรส แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากนางวรินทรา เกษสม ผู้จัดการแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการของบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของพนักงานจะพึงได้จากบริษัทเบิกความว่า ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งพนักงานจะต้องปฏิบัติตาม กำหนดให้เงินตามโครงการผลประโยชน์ดังกล่าวภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิได้รับไปครึ่งหนึ่ง กับบุคคลที่ถูกระบุไว้ในหนังสือรับรองทายาทอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงมีผลใช้บังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามโครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงานครึ่งหนึ่งศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share