คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13389/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ช. เคยถูกดำเนินคดีว่าร่วมกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้พยายามฆ่าผู้เสียหาย แม้ขณะเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้อง ช. แล้วก็ตาม คำเบิกความของ ช. ก็ยังมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนผู้เสียหายโจทก์ไม่สามารถนำมาเบิกความ คงอ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ครั้งแรกให้การว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 ต่อมาให้การอีกครั้งว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำหน้าคนร้ายสับสน ทำให้การที่ผู้เสียหายยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนัก ส่วน ส. ซึ่งอยู่ร่วมกับผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุก็เบิกความยืนยันเฉพาะว่าเห็นจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ ช. ขับมาเท่านั้น ส่วนคนร้ายคนอื่นพยานไม่เห็นหน้าและมองไม่ทัน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสองอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 5 ปี 12 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 1 จังหวัดระยอง มีกำหนดคนละ 5 ปี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ในกรณีที่จำเลยคนใดอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้วยังไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือได้รับการฝึกอบรมยังไม่ถึงระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้ส่งตัวจำเลยคนนั้นไปจำคุกไว้ในเรือนจำตามกำหนดเวลาฝึกอบรมที่เหลืออยู่ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนจำเลยที่ 1 นั้น นางสาวสุมาลีเบิกความว่าจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่นายชาญชัยหรือรุตขับ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอย่างใดในวันเกิดเหตุ ทั้งยังปรากฏว่าหากจำเลยที่ 1 จะยิงผู้เสียหายก็สามารถกระทำได้ตั้งแต่พบเห็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงที่สี่แยกหนองบัว ส่วนผู้เสียหายนั้นโจทก์ไม่สามารถนำตัวเข้าเบิกความต่อศาลในคดีนี้ คงอ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย แต่ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2548 ผู้เสียหายเข้าให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน ระบุว่า คนร้ายที่ยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 2 แต่เหตุที่ให้การมาก่อนว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือจำเลยที่ 1 เพราะจำหน้าคนร้ายสับสน จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา พยานหลักฐานโจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกระทำความผิดในลักษณะอย่างไร จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นโจทก์มีนายชาญชัยหรือรุตเบิกความว่า นายตั้มขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายผ่านรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและนางสาวสุมาลีที่ล้ม จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด เมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์หลบหนียังถูกจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงอีก 1 นัด จากนั้นรถจักรยานยนต์คันของจำเลยที่ 2 ได้แล่นตามรถจักรยานยนต์คันของนายแชมป์กับนายคอลิบไป นายชาญชัยหรือรุตเคยถูกดำเนินคดีว่าร่วมกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้พยายามฆ่าผู้เสียหาย แม้ขณะเบิกความในคดีนี้ นายชาญชัยหรือรุต ศาลพิพากษายกฟ้องแล้วก็ตาม จึงมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด มีน้ำหนักน้อย ส่วนผู้เสียหายโจทก์ไม่สามารถนำเข้าเบิกความเป็นพยาน แต่อ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวน ต่อศาล ซึ่งผู้เสียหายให้การในวันที่ 15 มกราคม 2548 และวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2548 ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง ว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำหน้าคนร้ายสับสน ทำให้การยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนัก ส่วนนางสาวสุมาลีซึ่งอยู่ร่วมกับผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุก็เบิกความยืนยันเฉพาะว่าเห็นจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่นายชาญชัยหรือรุตขับมาเท่านั้น ส่วนคนร้ายคนอื่นพยานไม่เห็นหน้าและมองไม่ทัน ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ โดยสรุปแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share