แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทสืบเนื่องกับสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมดอกเบี้ย และได้รับเอกสารจากโจทก์ไปก่อน เป็นเรื่องการให้สินเชื่อของโจทก์ซึ่งมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทนั้นโดยตรง ส่วนที่ตามสัญญาดังกล่าวให้โจทก์ยังคงมีสิทธิในสินค้านั้น เป็นเพียงเงื่อนไขที่มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ได้โดยสะดวกเท่านั้น สัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้สินเชื่อของโจทก์และการได้รับชำระหนี้จากการให้สินเชื่อเป็นสำคัญ มิใช่สัญญาซึ่งโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนำสินค้าออกไปจำหน่ายแทนโจทก์อันจะมีผลให้สัญญาทรัสต์รีซีทระงับไปแล้วผูกพันกันตามสัญญาตัวการตัวแทน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยโจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 รวม 2 ฉบับ และชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วตามที่มีการเรียกเก็บโดยตั๋วแลกเงินในสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับระบุกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนคือ วันที่ 16 มิถุนายน 2536 และวันที่ 18 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า สิทธิเรียกร้องให้รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้นฉบับแรกนับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2536 ฉบับที่สองนับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2536 แต่โจทก์เรียกดอกเบี้ยมาเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ดังนี้ แม้ตามคำให้การดังกล่าวจะระบุถึงตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในคำฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ ดังกล่าวเท่านั้น และตามคำให้การดังกล่าวก็ระบุถึงวันเริ่มนับอายุความถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นคำให้การที่ประสงค์จะยกอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยของต้นเงินที่เป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ นี้นั่นเอง ถือว่ายกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว
ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ อันเป็นสัญญาที่ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้นั่นคือ วันที่ 17 มิถุนายน 2536 และ 19 สิงหาคม 2536 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 โดยเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันครบกำหนดตลอดมา ซึ่งเกินกว่า 5 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยที่ค้างชำระเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) โจทก์จึงเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เฉพาะส่วนที่นับถึงวันฟ้องไม่เกิน 5 ปี เท่านั้น
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไม่มีข้อสัญญาให้คิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราสินเชื่อผิดนัดซึ่งมีอัตราสูงขึ้นกว่าอัตราสินเชื่อทั่วไป แต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดตลอดมาซึ่งผิดจากข้อสัญญาอันเป็นการคิดดอกเบี้ยสูงเกินสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามสัญญาและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็พิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวตามคำฟ้อง ทั้งที่เป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องซึ่งทำให้จำเลยทั้งสามต้องชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องชำระจริง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2535 และวันที่ 18 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อประกอบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากผู้ขายในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และผู้ขายในประเทศญี่ปุ่น โดยตกลงจะชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปนั้นแก่โจทก์ โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 และได้ชำระค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตตามที่ผู้ขายได้ยื่นตั๋วแลกเงิน 2 ฉบับ พร้อมเอกสารตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว ต่อมาเมื่อมีการขนส่งสินค้ามาถึงประเทศไทยจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเงินชำระแก่โจทก์จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์รวม 2 ฉบับ เพื่อนำเอกสารแสดงสิทธิในสินค้าจากโจทก์รับสินค้า โดยตกลงจะชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่กำหนดตามประกาศของโจทก์ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ได้สัญญาจำนองเครื่องจักร และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ด้วย แต่เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสองฉบับแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา คิดถึงวันฟ้องเป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยรวมจำนวน 761,774.24 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 316,609.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองเครื่องจักรทำเกลียว เครื่องปั๊มโลหะ เครื่องบดสี หมายเลขทะเบียน 23-323-218-0012 ถึง 23-323-218-0033 รวม 22 เครื่อง เครื่องผสม เครื่องหล่อแบบพลาสติก เครื่องบด หมายเลขทะเบียน 28-323-606-077 และ 28-323-606-0078 หมายเลขทะเบียน 22-323-606-0080 ถึง 28-323-606-0081 หมายเลขทะเบียน 28-323-606-0083 ถึง 28-323-0085 และหมายเลขทะเบียน 29-323-606-0412 ถึง 29-323-606-0417 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 24416 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์จริง โจทก์ตกลงมอบเอกสารสิทธิที่จะใช้ในการขอรับสินค้าแก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปรับสินค้าและนำสินค้าไปขายได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าแล้ว สัญญาทรัสต์รีซีทย่อมสิ้นสุดลง การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองสินค้าหรือได้รับเงินค่าสินค้าที่ขายได้ เป็นการครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบแก่โจทก์สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องจึงเป็นกรณีตัวการเรียกเงินค่าสินค้าจากตัวแทน แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันเกิดสิทธิเรียกร้อง จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 รับสินค้าของโจทก์มาขายแล้วไม่ส่งมอบเงินค่าสินค้าคืน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้จำนวนนี้สิทธิเรียกร้องให้รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2536 และฉบับที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2536 โจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันเกิดสิทธิ ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องจึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน 361,744.24 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 316,609.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้โจทก์จนครบ และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากผู้ขายในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจำนวน 6,930 มาร์กเยอรมัน และที่ประเทศญี่ปุ่นจำนวนเงิน 845,000 เยน โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าว พร้อมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 ทั้งสองฉบับและเมื่อผู้ขายสินค้าส่งสินค้าแล้วได้ยื่นตั๋วแลกเงินและเอกสารเพื่อขอรับเงิน โจทก์ได้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต ต่อมาเมื่อสินค้าที่ผู้ขายแต่ละรายส่งมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์รวม 2 ฉบับ เพื่อนำเอกสารการส่งสินค้าไปรับสินค้าจากผู้ขนส่งโดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระเงินให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต 2 ฉบับ ตั๋วแลกเงิน 2 ฉบับ และสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ เอกสารหมาย จ.10 จ.11 จ.13 จ.15 จ.12 และ จ.14 ตามลำดับ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรต่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อโจทก์เป็นประกันการชำระหนี้นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย ตามสัญญาจำนองเครื่องจักรรวม 3 ฉบับ สัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1 ฉบับ และสัญญาค้ำประกัน 2 ฉบับ เอกสารหมาย จ.3 จ.4 จ.5 จ.7 จ.6 และ จ.9 ตามลำดับ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เพียงเฉพาะในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของสัญญา ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการรับสินค้าออกไปจำหน่ายแล้วโจทก์เรียกเอาเงินค่าสินค้าจากตัวแทนเท่านั้นหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า ในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์นั้น ตามประเพณีและพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเครดิตที่มีเอกสารประกอบ กรรมสิทธิ์ในสินค้าเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อรับเอกสารสิทธิในการรับสินค้าจากโจทก์ไปรับสินค้าแทนโจทก์ แล้วนำออกขายรับเงินไว้ในนามของโจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าดังกล่าวแล้ว สัญญาทรัสต์รีซีทย่อมสิ้นสุดลงโจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นตัวการเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนคืนเงินค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องอีกแต่อย่างใด และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วย เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องการสินค้าจึงสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและผู้ขายในประเทศญี่ปุ่น เมื่อผู้ขายตกลงขายก็มีหน้าที่ ส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขาย แต่ในการชำระราคาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 เพื่อให้โจทก์ชำระเงินแก่ผู้ขายแต่ละรายตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่โจทก์ออกให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นพร้อมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ แสดงว่าการที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวนี้เป็นวิธีการเพื่อการชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินป็นผู้ยอมตนเข้าชำระเงินนั้นแก่ผู้ขายเอง อันเป็นการให้สินเชื่อที่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมต้องการได้รับชำระหนี้สินเชื่อนี้จากจำเลยที่ 1 และเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้ดังกล่าว การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็มีเงื่อนไขให้ผู้ขายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตขอรับเงินได้ เมื่อยื่นเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเอกสารที่จะใช้ในการขอรับสินค้าจากผู้ขนส่ง เพื่อโจทก์จะได้ยึดเอกสารดังกล่าวไว้และจำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนจึงจะได้รับเอกสารนั้นอันเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ต้องการไปใช้ประโยชน์ในการรับสินค้าได้แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้และต้องการเอกสารจากโจทก์ไปก่อน จึงมีการทำสัญญาทรัสต์รีซีทกันตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.14 ซึ่งเป็นสัญญาที่สืบเนื่องกับสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแก่โจทก์ในกำหนดเวลาตามสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมดอกเบี้ยและได้รับเอกสารจากโจทก์ไปก่อน ข้อตกลงตามสัญญาเช่นนี้ก็เป็นเรื่องการให้สินเชื่อของโจทก์ซึ่งย่อมมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลาตามสัญญาทรัสต์รีซีทนั้นโดยตรง ส่วนที่ตามสัญญาดังกล่าวระบุข้อความทำนองให้โจทก์ยังคงมีสิทธิในสินค้านั้น ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ได้โดยสะดวกเท่านั้น สัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้สินเชื่อของโจทก์และการได้รับชำระหนี้จากการให้สินเชื่อเป็นสำคัญ มิใช่สัญญาซึ่งโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนำสินค้าออกไปจำหน่ายแทนโจทก์อันจะมีผลให้สัญญาทรัสต์รีซีทระงับไป แล้วผูกพันกันตามสัญญาตัวการตัวแทนดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์มาแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อไปโดยอ้างถึงสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาตัวการตัวแทน จึงมีผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวขาดอายุความ 2 ปี ก็ดี โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ก็ดี โจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราตามสัญญาทรัสต์รีซีทก็ดี ย่อมฟังไม่ขึ้นด้วยเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกประการหนึ่งว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องเฉพาะในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระขาดอายุความเพียงใด หรือไม่ ปัญหานี้ในเบื้องต้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่ทำสัญญากันสืบเนื่องจากสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยโจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 รวม 2 ฉบับ และชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต แล้วตามที่มีการเรียกเก็บ โดยตั๋วแลกเงินในสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ ระบุกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนคือ วันที่ 16 มิถุนายน 2536 และวันที่ 18 สิงหาคม 2536 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า สิทธิเรียกร้องให้รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้นฉบับแรกนับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2536 ฉบับที่สอง นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2536 แต่โจทก์เรียกดอกเบี้ยมาตามคำฟ้องเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ดังนี้ แม้ตามคำให้การดังกล่าวจะระบุถึงตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในคำฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับดังกล่าวเท่านั้น และตามคำให้การดังกล่าวก็ระบุถึงวันเริ่มนับอายุความถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับแสดงให้เห็นได้ว่า เป็นคำให้การประสงค์จะยกอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยของต้นเงินที่เป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ นี้นั่นเอง ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ไว้ จึงไม่ชอบ แต่เมื่อคดีปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาใหม่ โดยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ อันเป็นสัญญาที่ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนดังกล่าวข้างต้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาย่อมถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้นั้นคือ วันที่ 17 มิถุนายน 2536 และ 19 สิงหาคม 2536 ตามลำดับอันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 โดยเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวตลอดมา ซึ่งเกินกว่า 5 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยที่ค้างชำระเฉพาะส่วนเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) โจทก์จึงเรียกร้องดอกเบี้ยตามคำฟ้องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เฉพาะส่วนที่นับถึงวันฟ้องไม่เกิน 5 ปี เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันที่ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นกรณีความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันที่ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นกรณีการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย
อนึ่ง ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอีก 2 ฉบับ ตามคำฟ้องซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2536 และวันที่ 16 เมษายน 2536 ตามลำดับตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.14 ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 16 ต่อปี ทั้งสองฉบับ ซึ่งตรงกับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับสินเชื่อทั่วไปตามประกาศของธนาคารโจทก์ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 ในชุดเอกสารหมาย จ.26 ที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญานั้น และตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวไม่มีข้อสัญญาให้คิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราสินเชื่อผิดนัดซึ่งมีอัตราสูงขึ้นกว่าอัตราสินเชื่อทั่วไปแต่อย่างใด แต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากหนี้ต้นเงินที่ จำเลยที่ 1 ค้างชำระ นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดตลอดมา ซึ่งผิดจากข้อสัญญาอันเป็นการคิดดอกเบี้ยสูงเกินสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามสัญญาและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็พิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวตามคำฟ้อง ทั้งที่เป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องซึ่งทำให้จำเลยทั้งสามต้องชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องชำระจริงอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142(5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 316,609.38 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กันยายน 2544) ย้อนหลังไป 5 ปี และถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุด สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาทั้งก่อนวันฟ้องและที่ประกาศหลังวันฟ้อง แต่อัตราดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปี ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.12 และ จ.14 และอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 14 ต่อปี ตามคำฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ