คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ตกลงวาดภาพนกให้แก่ บ. ตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปี 2534 และโจทก์ที่ 2 ตกลงวาดภาพนกอีกส่วนหนึ่งตั้งแต่ปี 2525 จนถึง 2534 การวาดภาพของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2515 จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2521 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 มีผลใช้บังคับถ้าโจทก์ที่ 1 ตกลงวาดภาดดังกล่าวในลักษณะเป็นการจ้างแรงงานโดยไม่มีข้อสัญญาให้ลิขสิทธิ์ตกแก่โจทก์ที่ 1 ก็จะมีผลให้ลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพวาดนั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้จ้างตามมาตรา 12 (ข) มิใช่ลิขสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์ที่ 1
ภาพวาดที่โจทก์ที่ 1 วาดตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2521 และภาพวาดที่โจทก์ที่ 2 วาดตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปี 2534 ซึ่งอยู่ระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มีผลใช้บังคับนั้นในกรณีลูกจ้างเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมให้นายจ้างโดยไม่มีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้สร้างสรรค์คือลูกจ้างตามมาตรา 7 แต่กรณีผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานโดยการรับจ้างผู้อื่นตามสัญญาจ้างทำของโดยไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ว่าจ้างในงานนั้นตามมาตรา 8
โจทก์ทั้งสองทำงานวาดภาพตามสัญญาจ้างทำของโดยไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จึงตกแก่ผู้ว่าจ้าง มิใช่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับจ้าง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนตามเดิม ให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ประเภทงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม ภาพวาดนกในหนังสือที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “A Guide to the Birds of Thailand” จำเลยทั้งสามเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 โดยนายบุญส่ง เลขะกุล ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองทำงานในฐานะลูกจ้าง ให้ทำการค้นคว้าสร้างสรรค์งานจิตรกรรม โดยวาดภาพนกในประเทศไทย เพื่อรวบรวมทำหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ซึ่งเป็นหนังสือคู่มือดูนกพร้อมภาพอิริยาบถของนกหลากหลายชนิดในประเทศไทยในรูปลักษณะต่างๆ โจทก์ที่ 1 วาดภาพนกจำนวน 1,479 ภาพ รวม 96 ต้นแบบ แม่พิมพ์โจทก์ที่ 2 วาดภาพนกจำนวน 399 ภาพ รวม 33 ต้นแบบแม่พิมพ์ เพื่อพิมพ์ลงในหนังสือดังกล่าวซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นจำนวน 20,000 เล่ม แล้วจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือนี้ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง และโจทก์ทั้งสองลาออกจากงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยนำภาพวาดนกดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนอกวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง โดยนำหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ไปจัดพิมพ์เพิ่มอีก 3 ครั้ง รวม 60,000 เล่ม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 นำภาพนกซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลักษณะของแผ่นภาพปฏิทินแขวน แจกจ่ายสมนาคุณแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมีการพิมพ์เครื่องหมายการค้าและรูปรอยประดิษฐ์อันเป็นสื่อโฆษณาที่ทำให้บุคคลทั่วไปทราบว่าเป็นสินค้าของจำเลยที่ 2 ไว้ในปฏิทินแขวนนั้นโดยมีจำเลยที่ 3 ในฐานะบริษัทตัวแทนการทำโฆษณาของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันทำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คิดค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 30 และร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิที่จำเลยที่ 1 ได้รับ คิดเป็นเงินจำนวน 10,800,000 บาท และ 3,600,000 บาท ตามลำดับ และคิดค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ โจทก์ทั้งสองได้ติดต่อจำเลยทั้งสามเพื่อให้ระงับการกระทำละเมิดและชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 10,800,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบต้นแบบพิมพ์ภาพวาดนกแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 500,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ และไม่มีลิขสิทธิ์ในงานภาพวาดนกในหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” เพราะภาพนกที่โจทก์ทั้งสองวาดไม่ได้เกิดจากความคิดริเริ่มของโจทก์ทั้งสองแต่เป็นการเลียนแบบของจริงจากภาพธรรมชาติและดัดแปลงภาพวาดนกจากหนังสือเล่มอื่น โจทก์ทั้งสองไม่เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยแต่เดิมนายบุญส่ง เลขะกุล ได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองให้วาดภาพนกเพื่อใช้เป็นภาพประกอบในหนังสือ โดยให้ค่าจ้างเหมาตามจำนวนภาพ ต่อมาเมื่อนายบุญส่งป่วยเป็นคนไร้ความสามารถ นางสุภาพ เลขะกุล ในฐานะผู้อนุบาลได้มอบสิทธิ์ในการจัดพิมพ์โฆษณาและจำหน่ายหนังสือดังกล่าวจำนวนพิมพ์ไม่เกิน 40,000 เล่มให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังจัดพิมพ์หนังสือไม่ถึงจำนวนดังกล่าว ดังนั้นลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ โฆษณาและจำหน่ายหนังสือจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 หลังจากนายบุญส่งป่วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้างเหมาโจทก์ทั้งสองต่อไป เมื่อนายบุญส่งถึงแก่ความตาย กองมรดกของนายบุญส่งจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพวาดนกตามคำฟ้องแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมอบให้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้โฆษณางานโดยจัดพิมพ์หนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ออกจำหน่ายทั่วไปในปี 2534 จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์หนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” รวมทั้งสิ้นจำนวน 32,000 เล่ม หนังสือยังขายไม่หมด ไม่มีกำไร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์และไม่มีลิขสิทธิ์ในภาพวาดนกในหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” โจทก์รับจ้างวาดภาพนกให้แก่จำเลยที่ 1 โดยคิดค่าจ้างตามผลงานที่ทำ ภาพวาดนกทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยนายบุญส่ง เลขะกุล ก่อนจำเลยที่ 3 จะนำภาพวาดนกมาทำเป็นปฏิทินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อปี 2537 จำเลยที่ 3 ติดต่อขออนุญาตจากจำเลยที่ 1 แล้ว ในหสังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยประมาทละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองภาพวาดนกของโจทก์ทั้งสองเป็นการเลียนแบบจากธรรมชาติ ไม่ได้เป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ จึงไม่มีลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 3 นำภาพวาดนกในหนังสือเพียงส่วนน้อยมาทำปฏิทิน จำเลยที่ 3 จัดทำปฏิทินดังกล่าวเพียงครั้งเดียว เพื่อแจกแก่บุคคลทั่วไปเป็นการให้ความรู้และอนุรักษ์นกในประเทศไทย มิได้ทำเพื่อจำหน่าย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่ง เลขะกุล นายบุญส่งเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นซึ่งหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ตามคำฟ้องโดยความคิดริเริ่มของนายบุญส่งเอง โดยการนำเอาหนังสือเกี่ยวกับนกในประเทศไทย 2 เล่ม ที่นายบุญส่งได้เคยจัดทำไว้ มาดัดแปลง ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม คัดลอก และจัดลำดับใหม่ นายบุญส่งจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ดังกล่าว ต่อมานายบุญส่งป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตไปเลี้ยงสมองอุดตัน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และในปี 2529 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งว่านายบุญส่งเป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดในฐานะผู้อนุบาลได้มอบลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ โฆษณา และจำหน่ายหนังสือนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยให้มีสิทธิในหนังสือที่จัดพิมพ์จำนวนไม่เกิน 40,000 เล่ม ซึ่งจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ภายหลังเมื่อนายบุญส่งถึงแก่ความตาย ลิขสิทธิ์ในหนังสือจึงตกเป็นทรัพย์สินของกองมรดกของนายบุญส่ง ในการจัดทำหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” นี้ นายบุญส่งได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเพียงนักวาดภาพธรรมดาให้วาดภาพเหมือนนกจากซากนกที่นายบุญส่งได้รวบรวมเก็บรักษาไว้ และที่ได้ขอยืมจากสถานที่ต่างๆ โจทก์ทั้งสองไม่ใช้เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพวาดนกในหนังสือดังกล่าว และเนื่องจากกองมรดกนายบุญส่ง เลขะกุล เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” และภาพวาดนกในหนังสือตามคำฟ้องผู้ร้องจึงร้องสอดเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาให้กองมรดกนายบุญส่ง เลขะกุล เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในหนังสือดังกล่าวซึ่งภาพวาดนกตามคำฟ้อง โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้โฆษณาและจำหน่ายตามจำนวนที่ได้รับอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ทั้งสองให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” นายบุญส่ง เลขะกุล มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับโจทก์ทั้งสอง นายบุญส่งเป็นผู้ร่วมเขียนและค้นคว้างานอันมีลิขสิทธิ์ในหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” แต่งานอันมีลิขสิทธิ์ในหนังสือดังกล่าวหาใช่เป็นลิขสิทธิ์ของนายบุญส่งแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิในการเผยแพร่หนังสือตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้างงานนั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพวาดนกในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ให้เป็นอย่างอื่น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพวาดนกตามส่วนของตน ผู้ร้องสอดไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพวาดนก จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์และไม่มีอำนาจร้องสอด ขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยที่ 1 ให้การแก้คำร้องสอดว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่านายบุญส่ง เลขะกุล เป็นผู้สร้างสรรค์หนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” โดยแก้ไขดัดแปลงจากหนังสือคู่มือดูนกเล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 กองมรดกของนายบุญส่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพวาดนกแม่พิมพ์ต้นแบบทั้งหมด และหนังสือดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องสอดในฐานะผู้อนุบาลของนายบุญส่งได้มอบลิขสิทธิ์ในการนำหนังสือออกโฆษณา จัดพิมพ์และจำหน่ายในจำนวนไม่เกิน 40,000 เล่ม ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังจัดพิมพ์หนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ไม่เกินจำนวนดังกล่าว ลิขสิทธิ์ในการโฆษณา จัดพิมพ์และจำน่ายหนังสือดังกล่าวจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำให้การแก้ร้องสอด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 330,000 บาท และ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 4 มกราคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับคำขอของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้และคำร้องสอดให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 70,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และผู้ร้องสอดให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในเบื้องต้นเห็นว่า ตามพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ตกลงวาดภาพนกตามคำฟ้องหลายภาพให้แก่นายบุญส่ง เลขะกุล ตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปี 2534 และโจทก์ที่ 2 ตกลงวาดภาพนกตามคำฟ้องอีกส่วนหนึ่งตั้งแต่ปี 2525 จนถึง 2534 ในส่วนภาพวาดนกที่โจทก์ที่ 1 วาดขึ้นตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งเป็นเวลาอยู่ภายใต้บังคับของกฏหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 โดยตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มาตรา 12 (ข) บัญญัติว่า “ถ้าผู้ประพันธ์เป็นลูกจ้างแรงงานหรือเป็นลูกมือฝึกหัด ผู้ประพันธ์ได้ทำวรรณกรรมหรือศิลปกรรมขึ้นในหน้าที่ผู้รับจ้าง และมิได้มีข้อสัญญาไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าบุคคลผู้จ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์…” ดังนี้การวาดภาพของโจทก์ที่ 1 ให้แก่นายบุญส่งตั้งแต่แรกในปี 2515 จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2521 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมพุทธศักราช 2474 มีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ข้อตกลงวาดภาพดังกล่าวเป็นการจ้างแรงงานโดยไม่มีข้อสัญญาให้ลิขสิทธิ์ตกแก่โจทก์ที่ 1 นั้นย่อมมีผลให้ลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพวาดนั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้จ้างตามมาตรา 12 (ข) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิใช่ลิขสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด ส่วนภาพวาดที่โจทก์ที่ 1 วาดตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2521 และภาพวาดที่โจทก์ที่ 2 วาดตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปี 2534 ซึ่งอยู่ระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มีผลบังคับใช้นั้น ในกรณีลูกจ้างเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมให้นายจ้างโดยไม่มีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้สร้างสรรค์คือลูกจ้างตาม มาตรา 7 กรณีผู้สร้างสรรค์งานโดยการรับจ้างผู้อื่นโดยไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นแล้ว ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ว่าจ้างในงานนั้นตามมาตรา 8 กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับงานศิลปกรรมภาพวาดนกที่มีการวาดภาพในช่วงนับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2521 เป็นต้นไปดังกล่าว โดยสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อที่ว่า การที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตกลงวาดภาพนกประกอบหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ตามคำฟ้องดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำตามสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาว่าจ้างทำของเสียก่อน ปัญหานี้ เห็นว่า สัญญาจ้างแรงงานนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันสัญญาจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” ส่วนสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนี่งเรียกว่าผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น” จากบทบัญญัติ 2 มาตรานี้ เห็นได้ว่า แม้สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างต่างก็ต้องทำงานให้แก่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างและนายจ้างหรือผู้ว้าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างเป็นการตอบแทนเช่นกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันที่สำคัญคือ ตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น ลูกจ้างต้องทำงานให้นายจ้างตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาจ้างแรงงานที่ตกลงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีการตกลงกันโดยมุ่งประสงค์ต่อผลสำเร็จของการงานอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ หรือคิดค่าตอบแทนจากผลสำเร็จของการงานที่ตกลงกันแต่อย่างใด นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีสิทธิบังคับบัญชามอบหมายและควบคุมกำกับการทำงานของลูกจ้างให้ทำงานใดๆ ภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับหน้าที่และสภาพการจ้างงานนั้นได้ส่วนสัญญาจ้างทำของนั้นผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามข้อตกลงที่ว่าจ้างให้ทำกันโดยถือเอาผลสำเร็จของการงานที่ตกลงให้ทำกันนั้นเป็นสาระสำคัญโดยผู้ว้าจ้างมิได้มีสิทธิบังคับบัญชาสั่งการผู้รับจ้างแต่อย่างใด สำหรับข้อเท็จจริงคดีนี้ ปรากฏจากพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่านายบุญส่ง เลขะกุล มีความประสงค์ที่จะปรับปรุงหนังสือทางปักษีวิทยาที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับนกชนิดต่างๆ ซึ่งนายบุญส่งเคยเขียนและจัดพิมพ์ขึ้นแล้ว 1 เล่ม คือ “BIRD GUIDE OF THAILAND” เล่ม 1 และจะจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวขึ้นใหม่ ซึ่งโดยสภาพของหนังสือดังกล่าวนอกจากจะมีข้อความบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับนกแต่ละชนิดแล้ว ยังต้องมีภาพประกอบคำบรรยายดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพและข้อความที่บรรยายจนสามารถทำความเข้าใจได้อย่างดี และในตอนแรกนายบุญส่งตกลงกับโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้วาดภาพนกเพื่อนำไปใช้ประกอบข้อความคำบรรยายในหนังสือที่นายบุญส่งประสงค์จะจัดทำขึ้นมานั้น โดยโจทก์ที่ 1 ไปทำงานช่วงเย็นหลังเลิกทำงานปกติของโจทก์ที่ 1 ที่สถานที่ทำงานของนายบุญส่ง โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน และต่อมามีการตกลงกับโจทก์ที่ 2 ให้ทำงานวาดภาพนกอีกคนหนึ่ง โดยทำงานที่สถานที่ดังกล่าว และได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนเช่นกัน แต่ภายหลังมีการจ่ายค่าตอบแทนที่คิดตามจำนวนภาพนกที่โจกท์แต่ละคนวาดออกมาได้แล้วเสร็จ ตามพฤติการณ์การชำระค่าตอบแทนดังกล่าว โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนและนายบุญส่งเป็นผู้จัดหาเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ในการทำงานของโจทก์ดังกล่าวด้วย ดังนั้นข้อตกลงให้วาดภาพนกดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาจ้างทำของ ในข้อนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า พฤติการณ์ที่มีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน และผู้ว่าจ้างจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือในการทำงานให้ผู้ทำงานนั้น แม้จะเป็นพฤติการณ์ที่มักเกิดขึ้นในกรณีของการจ้างลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ทำให้ฟังได้ว่าเป็นกรณีตามสัญญาจ้างแรงงานเสมอไปทั้งหมด เนื่องจากสัญญาจ้างทำของก็อาจมีพฤติการณ์การจ่ายค่าตอบแทนหรือการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทำงานเช่นเดียวกันนี้ได้เช่นกัน ซึ่งโดยเฉพาะในกรณีการทำงานวาดภาพนกของโจทก์ทั้งสองนี้ โจทก์ทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่าเหตุที่โจทก์แต่ละคนทำงานวาดภาพนกให้แก่นายบุญส่งเนื่องจากนายบุญส่งประสงค์จะจัดทำหนังสือเกี่ยวกับนกซึ่งต้องมีภาพวาดนกประกอบไว้ในหนังสือด้วย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ส่อแสดงว่านายบุญส่งต้องการผลงานภาพวาดนกสำหรับใช้ประกอบการทำหนังสือดังกล่าวให้สำเร็จ จึงตกลงให้โจทก์แต่ละคนวาดภาพนกให้และยังปรากฏว่าการวาดภาพนกเพื่อประกอบการทำหนังสือนี้จะต้องทำให้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับนกแต่ละวงศ์แต่ละชนิด ซึ่งต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลโดยนายบุญส่งและนายฟิลิป เดวิด ราวนด์ และใช้ซากนกที่นายบุญส่งเก็บรวบรวมไว้ในสถานที่ทำงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังต้องมีการเดินทางไปดูนกในสภาพธรรมชาติ และยังอาจมีการค้นพบนกชนิดที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อนแล้วค้นข้อมูลกับวาดภาพประกอบเพื่อให้หนังสือดังกล่าวมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับนกชนิดต่างๆ รวมทั้งมีภาพประกอบที่สมบูรณ์จำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากระยะเวลาที่ใช้ไปในการดูนก การค้นหาข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว และการวาดภาพนกตามข้อมูลที่ค้นหามาได้นั้นใช้เวลานานหลายปี โดยโจทก์ที่ 1 ทำงานวาดภาพสำหรับใช้ปรับปรุงหนังสือเล่มแรกตั้งแต่ปี 2515 ต่อมาปี 2516 ก็มีการคิดจะทำหนังสือ “BIRD GUIDE OF THAILAND” เล่ม 2 โดยใช้ภาพในหนังสือเล่มเดิมและวาดภาพใหม่เพิ่มเติมเสร็จในปี 2518 หลังจากนั้นก็มีการคิดจัดทำหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” โจทก์ที่ 1 ก็ตกลงเป็นผู้วาดภาพนกประกอบด้วยอีก โดยทำงานวาดภาพจนถึงปี 2534 จึงแล้วเสร็จ โดยโจทก์ที่ 2 ได้ร่วมวาดภาพนกด้วยตั้งแต่ปี 2525 จนทำหนังสือเสร็จในปี 2534 เช่นกัน หลังจากวาดภาพเพื่อประกอบการทำหนังสือดังกล่าวแล้วเสร็จ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้ทำการวาดภาพหรือทำงานกับนายบุญส่งหรือจำเลยที่ 1 อีกแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าสภาพการทำงานดังกล่าวแม้นายบุญส่งจะมุ่งประสงค์ถึงความสำเร็จการจัดทำหนังสือ แต่ก็ยากที่จะกำหนดจำนวนงานได้แต่แรกเพราะต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลและศึกษาดูนกกับวาดภาพนกเพิ่มเติมตามสภาพดังกล่าวจนกว่าจะเห็นว่ามีข้อมูลและภาพวาดที่สมบูรณ์เป็นที่พอใจที่จะรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือได้ อันเป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องให้โจทก์แต่ละคนทำงานที่สถานที่ทำงานของนายบุญส่งเพื่อสะดวกในการเทียบเคียงข้อมูลและประสานข้อมูลการบรรยายด้วยข้อความกับภาพวาดให้ถูกต้องสอดคล้องกัน และจำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์แต่ละคนในช่วงระยะเวลาที่ทำงานยาวนานเช่นนี้ การจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนในพฤติการณ์การทำงานดังกล่าวจึงอาจเป็นการแบ่งจ่ายค่าจ้างทำของให้เหมาะสมกับสภาพงานในลักษณะดังกล่าวข้างต้น เพื่อมิให้เป็นการเอาเปรียบโจทก์แต่ละคนและเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองที่ไม่ต้องรอรับค่าตอบแทนเมื่องานเสร็จสิ้นตามสัญญาจ้างทำของในภายหลังที่เป็นระยะเวลายาวนานมากเช่นนี้ การจ่ายค่าตอบแทนเช่นนี้จึงอาจเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างทำของได้เช่นกัน และเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์แต่ละคนแล้วได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า นายบุญส่งไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการวาดภาพของโจทก์ที่ 1 แต่บางครั้งมีการประชุมกันและนายบุญส่งจะเร่งรัดงานในบางครั้ง นายบุญส่งไม่ได้กำหนดให้วาดภาพนกเป็นตัวๆ แต่จะกำหนดวงศ์ เช่น วงศ์นกเอี้ยง เป็นต้น แล้วโจทก์ที่ 1 จะวาดภาพนกในวงศ์นกเอี้ยงเองทั้งหมด อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ทำงานวาดภาพโดยมีอิสระในการทำงานมาก การกำกับดูแลของนายบุญส่งเป็นเพียงการเร่งรัดงานเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าการจ้างโจทก์ที่ 1 นี้มีลักษณะที่โจทก์ที่ 1 ต้องทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของนายบุญส่งแต่อย่างใด นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังเบิกความอีกว่าโจทก์ที่ 1 เริ่มวาดภาพนกในหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” เอกสารหมาย จ.25 ตั้งแต่ปี 2518 ตั้งแต่วาดภาพดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ก็เข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ไม่ได้บอกนายบุญส่ง และปรากฏว่าเมื่อมีการจัดพิมพ์หนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ดังกล่าวออกมาก็มีการระบุว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และระบุชื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในฐานะเพียงผู้วาดภาพ โจทก์ที่ 1 ก็ทราบดี แต่ก็ไม่ได้โต้แย้งการระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ไม่มีชื่อโจทก์ที่ 1 อยู่ด้วยแต่อย่างใด และในการเดินไปดูนกตามธรรมชาติก็ยังปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งผิดปกติวิสัยของผู้เป็นลูกจ้าง ส่วนโจทก์ที่ 2 ก็เบิกความว่า โจทก์ที่ 2 วาดภาพโดยได้รับคำแนะนำให้ข้อมูลดูจุดสังเกตของนกจากนายฟิลิปกับคำบรรยายของนายฟิลิป นายบุญส่งจะเข้ามาดูบ้าง แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำหรือให้ข้อสังเกตแต่อย่างใดช่วงเร่งงานตั้งแต่ประมาณปี 2532 เป็นต้นมา จะมีการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานภาพวาดนกเป็นรายตัว ตัวละ 270 บาท โดยไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนแล้ว ในการวาดภาพนกนั้น การลงสีโจทก์ที่ 2 ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งประกอบกัน ทั้งดูตัวอย่างจากซากนกสกิน จากบันทึกของโจทก์ที่ 2 และข้อมูลจากหนังสืออื่นๆ หากนายฟิลิปหรือนายบุญส่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง และแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบ ถ้าโจทก์ที่ 2 เห็นด้วยก็จะแก้ไข แต้ถ้าไม่เห็นด้วย โจทก์ที่ 2 จะไม่แก้ไข ซึ่งแสดงถึงความเป็นอิสระในการทำงานของโจทก์ที่ 2 ว่ามิใช่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเยี่ยงที่นายจ้างมีต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองอ้างว่าในช่วงเวลาที่ได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเงินเดือน ก็ไม่ได้ความว่าโจทก์ทั้งสองนำไปยื่นรายการเสียภาษีเงินได้จากค่าจ้าง ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่า เมื่อมีการวาดภาพเสร็จในปี 2534 ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นภริยานายบุญส่งก็ให้โจทก์ทั้งสองออกใบรับเงิน โดยรวบรวมเงินที่ได้รับไปก่อนแล้วนั้นให้แก่ผู้ร้องสอด อันเป็นใบเสร็จรับเงินค่าจ้างวาดภาพนกของโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.7 และ ล.34 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงการรับเงินค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างในลักษณะการจ้างทำของเช่นนี้ ซึ่งย่อมมีผลให้เป็นหลักฐานแสดงว่าการวาดภาพนกของโจทก์ทั้งสองเป็นไปตามสัญญาจ้างทำของอันเป็นผลให้ลิขสิทธิ์ในงานภาพวาดนกนี้ตกเป็นของผู้ว่าจ้าง ไม่ได้ตกแก่โจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 7 และ 8 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นดังกล่าวมาข้างต้น แต่โจทก์ทั้งสองก็ยินยอมทำเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องสอด อันส่อให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการทำงานวาดภาพนกของตนดังกล่าวมานั้นเป็นการวาดภาพนกตามสัญญาจ้างทำของ มิใช่ตามสัญญาจ้างแรงงานและข้อที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ที่ทำเอกสารดังกล่าวให้เพราะเข้าใจว่าผู้ร้องสอดจะนำไปใช้เสียภาษีนั้น ก็ขัดต่อเหตุผล เพราะหากโจทก์ทั้งสองยอมทำเช่นนั้นตามที่อ้างมาจริงก็เท่ากับยอมทำเอกสารเท็จทั้งยังเป็นผลเสียหายต่อพยานหลักฐานที่จะแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของตนอีกด้วย จึงเป็นคำเบิกความที่ไม่น่าเชื่อ พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำสืบตามข้ออ้างว่าโจทก์ทั้งสองวาดภาพนกตามคำฟ้องตามสัญญาจ้างแรงงานจึงมีน้ำหนักน้อย ในขณะที่จำเลยที่ 1 และผู้ร้องสอดมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารใบเสร็จรับเงินค่าจ้างวาดภาพนกของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวข้างต้นซึ่งมีข้อความและรายละเอียดแสดงถึงการว่าจ้างโจทก์แต่ละคนวาดภาพนกตามสัญญาจ้างทำของ จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองทำงานวาดภาพนกตามคำฟ้องตามสัญญาจ้างทำของโดยไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จึงตกแก่ผู้ว่าจ้าง มิใช่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ผู้รับจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะถือตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองว่างานตามคำฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์โจทก์ทั้งสองก็ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตามคำฟ้องแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้นและไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ส่วนที่ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ขอให้พิพากษาว่าลิขสิทธิ์ในหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ตามเอกสารหมาย จ.15 เป็นของกองมรดกนายบุญส่ง เลขะกุล ในฐานะที่นายบุญส่งเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองวาดภาพนั้นเนื่องจากในส่วนงานภาพนกที่พิพาทกันนั้นมีจำนวนมากถึง 1,878 ภาพ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของกองมรดกนายบุญส่งหรือของจำเลยที่ 1 จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่างงานภาพนกแต่ละภาพเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีการสร้างสรรค์ขึ้นโดยความริเริ่มของผู้สร้างสรรค์และมิได้ลอกเลียนงานอื่นที่มีลิขสิทธิ์อยู่ก่อนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนไม่มีรายละเอียดที่จะวินิจฉัยได้ในแต่ละภาพ เนื่องจากคู่ความนำสืบในลักษณะรวมๆ กัน มาเป็นส่วนใหญ่ ไม่อาจวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด จึงควรให้ยกคำร้องสอดโดยไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่”
คำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องสอดที่จะฟ้องใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share