คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการของเจ้าหนี้นำงานพิมพ์ไปให้สหกรณ์กลาโหม จำกัด รับจ้างช่วง โดยไม่ได้จัดทำสัญญาจ้างตามแบบที่กำหนดจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าเป็นตั๋วแลกเงินเต็มจำนวนค่าจ้าง และจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละครั้งเกิน 300,000 บาท เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2504 และข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจและกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ พ.ศ. 2496ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยปราศจากอำนาจ และต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ส่วนนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 มีอำนาจตั้ง ส. เป็นตัวแทนช่วงให้ดำเนินกิจการจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศได้ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. 2496 มาตรา 22และข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจและกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการพ.ศ. 2496 ข้อ 7 เมื่อไม่ปรากฏว่า ส. เป็นผู้ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวแทนเจ้าหนี้ หรือเป็นผู้ไม่สมควรไว้วางใจจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ในการที่เจ้าหนี้ต้องคืนเงินที่ ส. เรียกรับเอาไปให้แก่ผู้สมัครงาน เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 6 รายการ เป็นเงิน15,057,742.16 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควรให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้รายการที่ 1, 2, 3, 4 และ 6 รวมเป็นเงิน13,570,116.30 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 130(8)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยมีเงื่อนไข ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้รายการที่ 5 จำนวน 1,264,250 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับความเสียหายรายการที่ 1 ถึงที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการของเจ้าหนี้นำงานพิมพ์แบบพิมพ์ที่เจ้าหนี้รับจ้างพิมพ์ให้กรมทางหลวงและชมรมส่งเสริมครู(แห่งประเทศไทย) รวม 4 รายการ ไปจ้างช่วงให้สหกรณ์กลาโหม จำกัดจัดพิมพ์ให้นั้นเป็นการทำการค้าเกี่ยวกับการพิมพ์อันเป็นวัตถุประสงค์ของเจ้าหนี้ที่จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำได้ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. 2496มาตรา 6, 7(4), 21, 22 แต่เมื่อจำเลยที่ 2 นำงานพิมพ์ดังกล่าวไปจ้างช่วงให้สหกรณ์กลาโหม จำกัด จัดพิมพ์ให้ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2504 ข้อ 5(ก)ที่กำหนดว่า จะต้องไม่จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้าง ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ผู้รับจ้างต้องจัดให้ธนาคารในราชอาณาจักรไทยธนาคารหนึ่งหรือหลายธนาคารที่มีหลักฐานดีและเจ้าหนี้เชื่อถือเป็นผู้ค้ำประกันเงินที่รับล่วงหน้าไป และเงินล่วงหน้าที่จะจ่ายต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาค่าจ้าง และตามข้อ 20 ที่กำหนดว่าหนังสือสัญญาจ้างต้องทำตามแบบท้ายระเบียบนี้ แล้วเสนอไปยังผู้มีอำนาจสั่งจ้างโดยผ่านการพิจารณาของกองกฎหมายเสียก่อน ต่อเมื่อเห็นว่ารัดกุมดีแล้วก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งจ้างอนุมัติให้ทำสัญญากับผู้รับจ้างได้ กับต้องปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจและกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ พ.ศ. 2496 ข้อ 3(จ)(1)ที่กำหนดว่า การสั่งจ่ายเงินอันมิใช่เป็นกิจประจำ หากมีความจำเป็นจะต้องจ่าย ให้ผู้อำนวยการสั่งจ่ายได้คราวหนึ่งไม่เกิน 300,000 บาทดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 นำงานพิมพ์แบบพิมพ์ไปจ้างช่วงสหกรณ์กลาโหมจำกัด จัดพิมพ์ให้ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้จัดทำสัญญาจ้างตามแบบที่กำหนด ได้จ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าเป็นตั๋วแลกเงินเต็มจำนวนค่าจ้างและการจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละครั้งเกิน 300,000 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบและข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการของเจ้าหนี้ได้กระทำไปโดยปราศจากอำนาจ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับความเสียหายรายการที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับความเสียหายรายการที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อเจ้าหนี้ได้รับใบอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจากสำนักงานทะเบียนจัดหางานจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการของเจ้าหนี้มีอำนาจตั้งนายสุนทร แก้วเนตร เป็นตัวแทนช่วงให้ดำเนินกิจการดังกล่าวได้ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์พ.ศ. 2496 มาตรา 22 และข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจและกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ พ.ศ. 2496 ประกอบกับจากพยานของเจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่านายสุนทรเป็นผู้ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวแทนเจ้าหนี้ หรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ สำหรับความเสียหายของเจ้าหนี้ที่ต้องคืนเงินให้ผู้สมัครงานที่นายสุนทรเรียกรับเอาไป เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับความเสียหายรายการที่ 5 ฎีกาของจำเลยที่ 2ในปัญหานี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เฉพาะรายการที่ 5 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share