แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่าทรัพย์ต้องอายัดตาม มาตรา 316 นั้นกินความถึงทรัพย์ที่ถูกยึดแล้วมอบหมายให้เจ้าของทรัพย์นั้นเป็นผู้ดูแลรักษาไว้ด้วยและถ้ามอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้ดูแลรักษาแล้วเจ้าของทรัพย์บังอาจเอาไปโดยเจตนาทุจริตก็มีผิดฐานลักทรัพย์ตาม มาตรา 290(ประชุมใหญ่ครั้งที่9/2498)
ย่อยาว
คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยถูกนายประมุขเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดปราจีนบุรียึดข้าวเปลือกของจำเลยไว้ 250 ถังเป็นราคา 1,625 บาท ตามคำสั่งของศาลจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อขายใช้หนี้แก่นายสายหยัดเจ้าหนี้ของจำเลยในคดีแดงที่ 1/2496 โดยมอบให้จำเลยเป็นคนดูแลรักษาข้าวที่ยึดไว้นั้น แต่ต่อมาจำเลยบังอาจยักยอกเอาข้าวเปลือกนั้นไปจำหน่ายเสีย โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษฐานยักยอกตามกฎหมายอาญา มาตรา 314, 316 โดยมีนายสายหยัดผู้เสียหายร้องทุกข์และขอเป็นโจทก์ร่วม
จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง แต่ต่อสู้ในข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะข้าวรายนี้ถูกเจ้าพนักงานยึด ไม่ใช่อายัด อันจะเป็นความผิดตาม มาตรา 314, 316 ดังโจทก์ฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้ทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายเป็นของจำเลยเอง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 314
ส่วนความผิดตาม มาตรา 316 จะต้องปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ต้องอายัดซึ่งมีความหมายต่างกันทรัพย์ที่ถูกยึดจำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ดุจกัน พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนแต่มีผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่าข้าวของจำเลยที่ถูกยึดนั้นต้องถือว่าถูกอายัดด้วย เมื่อจำเลยเอาไปขายโดยเจตนาทุจริตต้องมีความผิดตาม มาตรา 316 ประกอบด้วย มาตรา 314ดังโจทก์ฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ
โดยมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดในการที่ที่เจ้าของทรัพย์บังอาจเอาทรัพย์ของตนอันต้องยึดหรือต้องอายัดไปเสียโดยเจตนาทุจริตเช่นนี้ตามกฎหมายอาญามีบัญญัติอยู่ 2 แห่ง คือ มาตรา 316 ฐานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยในคดีนี้ กับมาตรา 290 ในหมวดฐานลักทรัพย์ ที่บัญญัติไว้เช่นนี้ก็โดยตามหลักทั่วไปของความผิดฐานลักทรัพย์ก็ดี ฐานยักยอกทรัพย์ก็ดี จะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่นถ้าเป็นทรัพย์ของตนเองแล้วไม่เป็นความผิด ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าการที่เจ้าของทรัพย์บังอาจเอาทรัพย์ของตนเองอันต้องยึดหรืออายัดไปโดยเจตนาทุจริตต้องมีความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าทรัพย์นั้นเจ้าของทรัพย์หรือผู้อื่นเป็นผู้รับมอบหมายไว้ ส่วนการที่ มาตรา 290 บัญญัติถึงทรัพย์ต้องยึดหรือต้องอายัด แต่ มาตรา 316 บัญญัติเพียงต้องอายัดอย่างเดียวเท่านั้น ก็คงเนื่องจาก กฎหมายในขณะนั้นไม่ได้บัญญัติเรื่องยึดหรืออายัดไว้ชัดแจ้ง แต่ได้ใช้คำทั้งสองนี้ปะปนกันต่างกับที่ใช้อยู่ในเวลานี้ทั้งกฎหมายอาญาก็มิได้ให้คำวิเคราะห์ศัพท์ไว้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า คำว่าทรัพย์ต้องอายัดตาม มาตรา 316 ย่อมกินความถึงทรัพย์ที่ถูกยึดแล้วมอบหมายให้เจ้าของทรัพย์นั้นเป็นผู้ดูแลรักษาไว้เช่นคดีนี้ด้วย และถ้ามอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้ดูแลรักษาแล้วเจ้าของทรัพย์บังอาจเอาไปโดยเจตนาทุจริตก็มีผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 290
พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 316ประกอบกับ มาตรา 314 ให้จำคุกจำเลย 1 ปี ปราณีตามมาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรากฏว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อนสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปี