แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเรื่องกำหนดเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้หวงห้าม มิใช่กฎหมาย โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่า ได้ปิดสำเนาประกาศตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ. ป่าไม้ฯ แล้ว ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะยกขึ้นต่อสู้หรือไม่ก็ตามเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ แต่โจทก์ไม่นำสืบให้ได้ความเช่นนั้น จึงลงโทษจำเลยไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกประกาศกระทรวงเกษตร ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตลอดเขตท้องที่จังหวัดทุกจังหวัด โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47 และ 75 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 ทวิ ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2518 กำหนดเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามตลอดเขตท้องที่ทุกจังหวัดและกำหนดให้ผู้มีประตู หน้าต่างไม้สัก ไว้ในครอบครองเพื่อการค้า ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศของรัฐมนตรีใช้บังคับ ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกินกว่า 90 วัน ทั้งได้คัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอที่ทำการกำนัน และจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2530 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยได้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ขึ้นที่บ้านเลขที่45 ถนนมาลัยแมน ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมซึ่งจำเลยจัดขึ้นเพื่อทำการแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องมือทำการเลื่อยผ่าเปลี่ยนรูปไม้ให้ผิดไปจากขนาดเดิม ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายและจำเลยได้มีหน้าต่างไม้สักและประตูไม้สัก ซึ่งเป็นเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ไว้ในครอบครองเพื่อการค้าภายในเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามตามประกาศดังกล่าว โดยเครื่องใช้ดังกล่าวมีปริมาณเกินกว่าจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัตป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 47, 48, 53, ทวิ, 53 ตรี, 73 ทวิ,74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19, 21พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 8, 9พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และสั่งริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 47, 48, 53 ทวิ, 53 ตรี, 73, 73 ทวิ, 74, 74 ทวิพระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19, 21 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 8, 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2525 มาตรา 4 ลงโทษฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท ฐานมีไว้ในความครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามจำคุก6 เดือน ปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 15,000 บาทโทษจำคุกรอไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีที่จะเป็นความผิดตามฟ้องนั้น จะต้องได้ความว่าได้มีการคัดสำเนาประกาศกระทรวงเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ปิดไว้ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการกำนัน หรือที่สาธารณสถานในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้องด้วย ตามที่มีบัญญัติบังคับไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ดังนั้นในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ศาลจึงต้องพิจารณาว่าได้มีการคัดสำเนาประกาศนั้นปิดไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วหรือไม่ด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะยกขึ้นต่อสู้หรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความเช่นนั้นด้วย คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการปิดประกาศสำเนาประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ใด ๆ เลย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าได้มีการคัดสำเนาประกาศนั้นปิดไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คดีจึงลงโทษจำเลยไม่ได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.