คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรุงเทพมหานครเคยมีคำสั่งตั้งพนักงานประเมินภาษีโทเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษี เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งพนักงานประเมินภาษีโทก็ย่อมได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามคำสั่งดังกล่าวด้วยจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจ ประเมินและเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้แต่งตั้งบุคคลคนเดียวเป็นทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีและการแต่งตั้งนี้ไม่ต้องออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพราะ กฎหมายให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
คำสั่งตั้งพนักงานประเมินภาษีโทเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีเพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเรื่องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายไม่ใช่การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร จึงไม่ต้องแต่งตั้งบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าว และไม่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
แม้จำเลยจะไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารที่อ้างให้โจทก์ก่อนวันสืบพยาน ไม่น้อยกว่าสามวัน ศาลก็มีอำนาจรับฟังได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและจำเป็นต้องนำสืบ เพราะเป็นหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็น ข้อสำคัญในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87
เอกสารถ่ายมาจากต้นฉบับหรือถ่ายจากสำเนาอันรับรองว่าถูกต้องกับต้นฉบับก็เป็นสำเนาเอกสารด้วยกัน เมื่อต้นฉบับอยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการและศาลมิได้กำหนดเป็นอย่างอื่น สำเนาเอกสารที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับรองก็ถือว่าเป็นอันเพียงพอในการที่จะนำมาแสดง
การติดตั้งเครื่องสูบน้ำในหอพักเพราะน้ำประปาไม่มีกำลังส่งได้ถึงชั้นสูง ๆ มิใช่เป็นการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมขึ้นในโรงเรือน จึงไม่ได้รับประโยชน์ในการลดค่ารายปี ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับประเด็นข้อแรกได้ความจากนายเสน่ห์ เดี่ยววาณิชย์ จำเลยที่ 2 ว่า ระหว่าง พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2518 พยานดำรงตำแหน่งพพนักงานประเมินภาษีโท เขตพระนครครั้นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครออกใช้บังคับก็ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้และเป็นหัวหน้างานรายได้ด้วย นอกจากนี้พยานยังได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พิเคราะห์แล้วนอกจากจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานยังมีเอกสารสำเนาคำสั่งหมาย ล.1 และหมาย ล.2 ประกอบ ซึ่งโจทก์เองก็นำสืบรับว่า จำเลยที่ 1 เคยมีคำสั่งตั้งพนักงานประเมินภาษีโท เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษี เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.17 ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งเอกสารหมาย จ.17 และ ล.2 มีใจความเหมือนกัน แต่ออกโดยอาศัยกฎหมายต่างฉบับ คือ หมาย จ.17 อาศัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 หมาย ล.2 ออกโดยอาศัยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เมื่อจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งพนักงานประเมินภาษีโทตามเอกสารหมาย ล.1 ก็ย่อมได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามเอกสารหมาย ล.2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจประเมินและเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาว่าพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินจะเป็นบุคคลคนเดียวกันไม่ได้เพราะปฏิบัติหน้าที่ต่างกัน การแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวต้องออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งได้เฉพาะบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 เท่านั้น เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 จำเลยไม่ได้ส่งสำเนาให้โจทก์ โดยเฉพาะหมาย ล.1 ล.2 ไม่ได้ถ่ายจากต้นฉบับแต่ถ่ายมาจากสำเนา เอกสารหมาย ล.2 ไม่ได้ลงประกาศในกรุงเทพกิจจานุเบกษา จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ จำเลยที่ 1 จึง แต่งตั้งบุคคลคนเดียวให้เป็นทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีได้การแต่งตั้งนี้ไม่ต้องออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพราะกฎหมายให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งได้อยู่แล้ว คำสั่งเอกสารหมาย ล.2 เป็นเรื่องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย ไม่ใช่การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 จึงไม่ต้องแต่งตั้งบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าว และไม่ต้องประกาศในกรุงเทพกิจจานุเบกษาสำหรับเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 แม้จำเลยไม่ได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวัน ศาลก็มีอำนาจรับฟังได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และจำเป็นต้องนำสืบเพราะเป็นหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อที่ว่าเอกสารหมาย ล.1 ล.2 มิได้ถ่ายมาจากต้นฉบับนั้น เห็นว่าจะถ่ายมาจากต้นฉบับหรือถ่ายจากสำเนาอันรับรองว่าถูกต้องกับต้นฉบับก็เป็นสำเนาเอกสารด้วยกัน เมื่อต้นฉบับอยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการ และศาลมิได้กำหนดเป็นอย่างอื่น สำเนาเอกสารที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับรองก็ถือว่าเป็นอันเพียงพอในการที่จะนำมาแสดง ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานประเมินโทเทียบเท่าหัวหน้าแผนกตามกฎ ก.ก. เอกสารหมาย จ.22 ได้รับรองว่าเป็นสำเนาอันถูกต้อง ทั้งมาเบิกความว่าพยานดำรงตำแหน่งพนักงานประเมินภาษีโทตามเอกสารหมาย ล.1 ดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามเอกสารหมาย ล.2 ถือได้ว่าพยานเบิกความรับรองเอกสารหมาย ล.1 ล.2 ว่าถูกต้องตรงกันกับต้นฉบับ จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวได้

ประเด็นข้อ 2 โจทก์ฎีกาว่าคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ตามเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งลงประกาศในกรุงเทพกิจจานุเบกษาแล้ว คำสั่งดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 แต่ประกาศฉบับนี้ถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2518 แล้ว การแต่งตั้งตามเอกสารหมาย จ.17 ก็ถูกยกเลิกไปในตัวและคำสั่งเอกสารหมาย ล.2 รับฟังไม่ได้ตามที่กล่าวมาแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อคำสั่งเอกสารหมาย ล.2 รับฟังได้ดังวินิจฉัยมาแล้วในข้อ 1 จำเลยที่ 3ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่รวมอยู่ในคำสั่งเดียวกันนั้น ก็มีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์

ประเด็นข้อ 3 อันเป็นข้อสุดท้ายคือ จำเลยที่ 2 ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ทำการประเมินไม่ชอบเพราะคำนวณค่ารายปีโดยคิดค่าเช่าเป็นรายห้อง ไม่ปฏิบัติตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทย เอกสารหมาย จ.4 ที่ให้พิจารณาคำนวณค่ารายปีทั้งหลัง ส่วนค่าเช่าห้องพักแต่ละห้องถือเป็นส่วนประกอบ จำเลยที่ 2 หักค่าใช้จ่ายให้โจทก์บางรายการเท่านั้น และไม่ได้ไต่สวนตรวจตราทรัพย์สิน ไม่เปรียบเทียบกับโรงเรือนข้างเคียง ไม่ลดค่ารายปีลงเหลือ 1 ใน 3 ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 ให้ความหมายของค่ารายปีว่า “หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าท่านว่าค่าเช่านั้นเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ไซร้ ท่านว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่” หนังสือกระทรวงมหาดไทยเอกสารหมาย จ.4 ได้ชี้แจงและซ้อมความเข้าใจในการประเมินค่ารายปีเพื่อปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน เฉพาะที่เกี่ยวกับหอพักที่เจ้าของโรงเรือนดำเนินการเองว่า “ให้พิจารณาคำนวณค่ารายปีทั้งหลังส่วนค่าเช่าห้องพักแต่ละห้องถือเป็นส่วนประกอบ ค่าเช่าห้องพักดังกล่าวถ้ามีค่าอาหาร ค่าซักฟอก และค่าบริการอื่น ๆ รวมอยู่ด้วยก็ดี หรือมีห้องพักว่างเป็นครั้งคราวในระหว่างปีก็ดี หากสอบได้ความจริงให้พิจารณาหักออก” ได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่าการคำนวณค่ารายปี จำเลยที่ 2 ถือห้องเช่าเป็นหลักว่ามีห้องเช่าจำนวนเท่าใด ให้เช่าในอัตราห้องละเท่าใด ในเดือนหนึ่ง ๆ โจทก์ได้รับค่าเช่าเท่าใด รวมทั้งปีเป็นจำนวนเงินเท่าใด แล้วยอมให้หักค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ ตามหนังสือซ้อมความเข้าใจของกระทรวงมหาดไทย เอกสารหมาย จ.4 นอกจากจะหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว ยังหักค่าเช่าให้อีก 2 เดือน โดยถือว่า 2 เดือนนั้นอยู่ในระหว่างหยุดเทอมไม่มีนักเรียนมาพัก ศาลฎีกาเห็นว่ารายละเอียดการคำนวณค่ารายปีท้ายเอกสารหมาย ล.3 ล.4 ได้ปฏิบัติตามที่จำเลยที่ 2 เบิกความ แต่ค่าเช่าในระหว่างหยุดเทอมหักให้ 1 เดือน ตามระเบียบหอพักของโจทก์ การคำนวณค่ารายปีดังกล่าวชอบแล้ว เรื่องค่าใช้จ่ายโจทก์ฎีกาว่า จำเลยหักให้เพียง 3 รายการ คือ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ ศาลฎีกาตรวจรายละเอียดการคำนวณค่ารายปีท้ายเอกสารหมาย ล.3 ล.4 แล้วปรากฏว่า หักค่ารายปีให้ 6 รายการ คือ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าคนงานทำความสะอาดดูแลทั่วไป ค่าอุปกรณ์ไฟฟ้า ประปา และค่าผงซักฟอกและสบู่ รวมเป็นเงินปีละ 122,400 บาท ซึ่งตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทย เอกสารหมาย จ.4 ระบุว่า “ค่าเช่าห้องพักดังกล่าว ถ้ามีค่าอาหาร ค่าซักฟอก และค่าบริการอื่น ๆ รวมอยู่ด้วยก็ดี หากสอบได้ความจริงให้พิจารณาหักออก” โจทก์เบิกความว่าค่าเช่าที่เรียกเก็บนั้น รวมทั้งค่าน้ำค่าไฟไม่ปรากฏว่ารวมค่าบริการอย่างอื่นด้วย ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 หักค่าใช้จ่ายให้รวม 6 รายการ นับว่าเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว ข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ไต่สวนและตรวจตราทรัพย์สินก่อนกำหนดค่ารายปีนั้น ได้ความว่าตึกของโจทก์เลขที่ 36/1 และ 36 ได้จัดเป็นหอพักสตรีอย่างเดียว ไม่ปรากฏการใช้ที่ดินซึ่งต่อเนื่องกับตึกดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจตราเพื่อกำหนดประเภทแห่งทรัพย์สินตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เพียงแต่สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์ก็อาจกำหนดค่ารายปีได้ เรื่องนี้กฎหมายเพียงแต่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ มิได้บังคับว่าต้องเข้าไปตรวจตรา ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 ไม่เข้าไปตรวจตราจึงไม่ขัดกฎหมายแต่อย่างใด สำหรับการเปรียบเทียบกับโรงเรือนข้างเคียง เห็นว่าจะเปรียบเทียบกับตึกแถวให้เช่าของนางสุภา ศรีรัฐ และของหม่อมราชวงศ์ถ้วนเท่านึก ปราโมช หาได้ไม่ เพราะทั้งสองราย มิได้ดำเนินกิจการหอพักเช่นเดียวกับโจทก์ และที่โจทก์ติดตั้งเครื่องสูบน้ำก็เพื่อสูบน้ำบริการแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้พักในหอพัก โจทก์เองยอมรับมาในฎีกาว่า ถ้าไม่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจะเปิดเป็นหอพักไม่ได้ เพราะน้ำประปาไม่มีกำลังส่งได้สูงถึงชั้นที่ 5 ที่ 6 ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมขึ้นในโรงเรือนของโจทก์ จึงไม่ได้รับประโยชน์ในการลดค่ารายปีตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475″

พิพากษายืน

Share