คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3979/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น เมื่อนาย ว. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งไม่รับรองลายมือชื่อของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรมและมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ดังนี้ พินัยกรรมฉบับนี้จึงมิได้ทำขึ้นตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาของผู้ตาย โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ นางสาวทองอัมไพ และนางสาวทองวิไล พฤกษมาศ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๑ ผู้ตายถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน ๘ แปลง ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องและบุตรของผู้ร้อง ๒ คน และระบุในพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ นางทองน้อย พฤกษมาศ นางสาวทองนวล พฤกษมาศ และนางทองขาว พฤกษมาศ (ธีระวัชรมาศ) ที่ดิน ๘ แปลง ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้าน พินัยกรรมที่ผู้ร้องกล่าวอ้างปลอมทั้งฉบับ และเป็นการทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของผู้ตายให้แก่บุคคลอื่นขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๑ และผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยก คำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งให้นางผ้วน พฤกษมาศ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ให้ผู้คัดค้านมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะที่มีการลงลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น เมื่อนายวรรณโณซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งไม่รับรองลายมือชื่อของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรม และมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ดังนี้พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๐๕ ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาล ขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖ , ๒๔๗ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share