แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือของกลางจำนวน 91 เล่ม ที่จำเลยขายหรือเสนอขาย พิมพ์ลอกเลียนจากหนังสือฉบับแท้จริงของกระทรวงศึกษาธิการผู้เสียหายมีลักษณะแตกต่างจากหนังสือฉบับแท้จริงอย่างเห็นได้ชัด จำเลยเป็นพ่อค้าประกอบอาชีพจำหน่ายหนังสือแบบเรียนและแบบฝึกหัดมานานประมาณ20 ปีแล้ว มีร้านค้าของตนเองและเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือแบบเรียนขององค์การค้าของคุรุสภา จำเลยย่อมมีความรู้ความเข้าใจมีประสบการณ์และความชำนาญในการตรวจตราหนังสือแบบเรียนและแบบฝึกหัดต่าง ๆ ที่สั่งมาจำหน่ายในร้านค้าของตนว่าถูกต้องหรือไม่ จำเลยได้รู้เห็นหนังสือของกลางนั้นอยู่แล้วว่าไม่ใช่เป็นหนังสือแบบเรียนหรือแบบฝึกหัดที่แท้จริงของผู้เสียหาย และย่อมสังเกตเห็นว่าหนังสือของกลางดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจากหนังสือของผู้เสียหายที่จำเลยเคยสั่งซื้อจากองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งผู้เสียหายสงวนลิขสิทธิ์ดังนี้ ถือได้ว่า จำเลยขายหรือเสนอขายหนังสือของกลางจำนวน 91 เล่มนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 4, 27, 44, 47, 49 ริบของกลางและจ่ายค่าปรับแก่ผู้เสียหายตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 44 วรรคสอง ให้ปรับจำเลย 80,000 บาทให้จ่ายค่าปรับแก่กระทรวงศึกษาธิการผู้เสียหายเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 หนังสือของกลางเฉพาะที่พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจำนวน 91 เล่ม ให้ตกเป็นของผู้เสียหายหนังสือของกลางนอกนั้นและหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยและภรรยา ประกอบกิจการค้าขายหนังสือ และร้านค้าของจำเลยเป็นผู้ขายส่งสินค้าขององค์การค้าของคุรุสภา จัดจำหน่ายหนังสือแบบเรียนและแบบฝึกหัดที่สั่งซื้อจากองค์การค้าของคุรุสภา เมื่อวันที่ 29สิงหาคม 2529 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภา ได้ไปตรวจและยึดหนังสือแบบเรียนปลอมคือไม่ใช่หนังสือที่จัดพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา จำนวน 91 เล่มซึ่งกระทรวงศึกษาธิการผู้เสียหายมีลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว จำเลยได้วางเสนอขายหนังสือปลอมดังกล่าวที่ร้านค้าจำเลย มีปัญหาชั้นฎีกาข้อเดียวตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยขายหรือเสนอขายหนังสือจำนวน 91 เล่มโดยรู้อยู่แล้วว่าหนังสือนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่าหนังสือของกลางจำนวน 91 เล่มนั้น พิมพ์ลอกเลียนจากหนังสือฉบับแท้จริงของผู้เสียหาย มีลักษณะแตกต่างจากหนังสือฉบับแท้จริงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เลขวิ่งบอกจำนวนเล่มของหนังสือแต่ละเล่มที่พิมพ์ไว้บนปกด้านหลังจะซ้ำกันหรือเกินจำนวนเล่มหนังสือที่อนุญาตให้พิมพ์ตามที่ระบุไว้บนปกด้านใน รูปเล่มของหนังสือไม่ได้มาตรฐานขนาดรูปเล่มไม่เท่าฉบับแท้จริง อาจจะใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าฉบับแท้จริง ตัวอักษรไม่ชัดเจนบางคำขาดหายไป รูปภาพตัวอักษร และหมึกที่ใช้พิมพ์จะซีดไม่ชัด สีจะไม่เหมือนฉบับแท้จริงลวดที่เย็บเล่มจะไม่ได้ขนาดจะเหลื่อมลักลั่นกันไม่คงที่ ดังเช่นหนังสือฉบับที่พิมพ์ลอกเลียนจากหนังสือฉบับแท้จริงตามเอกสารหมายป. จ.2 ถึง ป. จ.9 ซึ่งเห็นได้โดยง่ายว่าแตกต่างจากหนังสือฉบับแท้จริง ตามเอกสารหมาย ป. จ.10 ถึง ป. จ.15 จำเลยเป็นพ่อค้าประกอบอาชีพจำหน่ายหนังสือแบบเรียนและแบบฝึกหัดมานานประมาณ 20 ปีแล้ว มีร้านค้าของตนเองและเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือแบบเรียนขององค์การค้าของคุรุสภา จำเลยย่อมมีความรู้ความเข้าใจมีประสบการณ์และความชำนาญในการตรวจตราหนังสือแบบเรียนและแบบฝึกหัดต่าง ๆ ที่สั่งมาจำหน่ายในร้านค้าของตนว่าถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่ไม่เอาใจใส่ตรวจตราเพราะมิฉะนั้นจำเลยย่อมจะไม่สามารถรู้ได้ว่า ในร้านค้าของตนมีสินค้าอะไรไว้จำหน่ายเพียงใดหรือไม่ นอกจากนั้นยังได้ความจากภรรยาจำเลยว่าซื้อหนังสือเหล่านั้นมาจากผู้เร่ขาย จึงเชื่อได้ว่าจำเลยได้รู้เห็นหนังสือของกลางนั้นอยู่แล้วว่าไม่ใช่เป็นหนังสือแบบเรียนหรือแบบฝึกหัดที่แท้จริงของผู้เสียหาย และย่อมสังเกตรู้เห็นอยู่แล้วว่าหนังสือของกลางดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจากหนังสือของผู้เสียหายที่จำเลยเคยสั่งซื้อจากองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งผู้เสียหายสงวนลิขสิทธิ์ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงเชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยขายหรือเสนอขายหนังสือของกลางจำนวน 91 เล่ม นั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 27…”
พิพากษายืน.