คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3972/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้า พิมพ์หนังสือแบบเรียนตามฟ้องในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2521 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เช่นนี้ กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีคือพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 เพราะมูลกรณีแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในขณะที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ยังไม่ใช้บังคับ
กรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีส่วนในการจัดทำหนังสือแบบเรียนที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หนังสือแบบเรียนตามฟ้องที่จำเลยจัดพิมพ์ขึ้นก็ระบุเป็นของ กระทรวงศึกษาธิการที่หน้าปก ทุกเล่ม นอกจากนี้กรมการปกครองเคยขออนุญาตโจทก์พิมพ์หนังสือแบบเรียนหลายครั้ง แสดงว่ากรมการปกครองและจำเลยก็ยอมรับแล้วว่าลิขสิทธิ์ในหนังสือแบบเรียนเป็นของโจทก์ กรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงหามีส่วนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยไม่
จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทที่รับพิมพ์หนังสือแบบเรียนตามฟ้องตามคำสั่งของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ที่ 7 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 พิมพ์หนังสือแบบเรียนดังกล่าวตามคำสั่งของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง โจทก์เคยอนุญาตให้กรมการปกครองจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาในระหว่างปี พ.ศ. 2510 ถึง 2516 โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ และหนังสือแบบเรียนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7พิมพ์ขึ้นนั้น ด้านหน้าก็มีข้อความระบุว่าของ กระทรวงศึกษาธิการในหน้าแรกมีถ้อยคำว่าสำหรับแจกเด็กนักเรียนห้ามขาย ด้านหลังมีคำว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง ถนนพหลโยธินฯลฯ และระบุชื่อนาย พ. ผู้พิมพ์โฆษณา กับมีคำแนะนำในเรื่องให้ยืมหนังสือหรือแบบเรียน ชี้ให้เห็นว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นและนาย พ. เป็นผู้รับผิดชอบในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนตามฟ้องทุกเล่ม แม้ความจริงจะพิมพ์โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ตามพฤติการณ์เหล่านี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ย่อมเข้าใจว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นนาย พ. และกรมการปกครองได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้พิมพ์หนังสือแบบเรียนดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จึงมิได้จงใจละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 8 ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฝ่ายพิมพ์ โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น และจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกจำหน่ายของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น ก็เข้าใจว่ากรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับอนุญาตให้จัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนของโจทก์ในปี พ.ศ. 2517, 2520 และ 2521 ดังเช่นที่เคยได้รับอนุญาตมาก่อน การที่จำเลยที่ 8 ที่ 9 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 พิมพ์หนังสือแบบเรียนตามฟ้องตามคำสั่งของกรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ จึงเป็นการกระทำที่มิได้จงใจละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ถึงวันที่๙ มิถุนายน ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๘ ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นกรมการปกครอง และที่ ๙ ลูกจ้างของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นในฐานะส่วนตัว ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ร่วมกันจัดพิมพ์ปลอมหนังสือตำราและแบบเรียนที่ใช้ในชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๗ และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ได้ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือตำราและแบบเรียนในปี ๒๕๑๙ ถึง ๒๕๒๑ ที่โรงพิมพ์ของจำเลยที่ ๑ แล้วจำหน่ายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดในจังหวัดต่าง ๆอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งเป็นการเลียนเครื่องหมายราชการของโจทก์ที่ ๑ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าหนังสือที่จำเลยร่วมกันจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่โจทก์ทั้งสองอนุญาตให้ผู้อื่นจัดพิมพ์ได้ โจทก์ที่ ๒ ทราบการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๑ ส่วนโจทก์ที่ ๑ทราบเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๓,๒๖๒,๙๐๕.๗๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยกับขอให้ห้ามจำเลยทั้งเก้าจัดพิมพ์หนังสือตำราและแบบเรียนที่ใช้ในชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๗ อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อีกต่อไป และให้ส่งสำเนาจำลองละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งแม่พิมพ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการพิมพ์สำเนาจำลองละเมิดลิขสิทธิ์ตามเอกสารท้ายฟ้องที่มีอยู่ที่จำเลยทั้งเก้าซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไวให้แก่โจทก์ทั้งหมด
จำเลยที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ให้การว่า หนังสือตำราและแบบเรียนเป็นของที่ใช้กันอยู่ทั่วราชอาณาจักรในการเรียนภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาและลิขสิทธิ์นั้นเป็นของรัฐบาล ซึ่งกรมการปกครองเป็นกรมในรัฐบาลก็มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมด้วยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสองเป็นส่วนราชการ จะอ้างว่าขาดค่าลิขสิทธิ์ไม่ได้ ฟ้องโจทก์ยังเคลือบคลุม จำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดตามฟ้อง จำเลยเชื่อว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง มีสิทธิว่าจ้างพิมพ์หนังสือตามฟ้องได้หนังสือดังกล่าวนำไปแจกจ่ายให้นักเรียนที่ยากจนใช้เรียนเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของชาติ โจทก์จึงไม่เสียหาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ มิได้จงใจละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินสมควร ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าลิขสิทธิ์จากจำเลยไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ลิขสิทธิ์นั้นเป็นของทางราชการหรือของรัฐบาลไทย กรมการปกครอง เป็นส่วนของรัฐบาลไทยก็มีส่วนเป็นเจ้าของด้วย และเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองก็เป็นคณะกรรมการอำนวยการใช้หลักสูตรด้วยกันกับโจทก์ทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง กรมการปกครองมีหน้าที่จัดการศึกษาประชาบาลและได้รับงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าหนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาภาคบังคับแจกให้นักเรียนยืมเรียนตามนโยบายของรัฐบาล จำเลยที่ ๘ที่ ๙ ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากกรมการปกครอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ๑ ปีแล้ว การจัดพิมพ์และการกระทำอื่นตามฟ้องมิใช่เป็นการปลอมเอกสาร ใช้และเลียนแบบเครื่องหมายราชการและมิได้ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑มาตรา ๒๔ ทำให้โจทก์เสียหาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระเงิน ๓,๒๖๒,๙๐๕.๗๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยห้ามจำเลยทั้งเก้าจัดพิมพ์หนังสือตำราและแบบเรียนที่ใช้ในชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๗ อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อีกต่อไปให้จำเลยส่งสำเนาจำลองแม่พิมพ์และอุปกรณ์ในการพิมพ์ตามเอกสารท้ายฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งหมด
จำเลยทั้งเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเก้าพิมพ์หนังสือแบบเรียนตามฟ้องในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึง ๒๕๒๑ ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๑หรือไม่ เห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนี้ก็คือพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. ๒๔๗๔ ทั้งนี้เพราะตามฟ้องของโจทก์ระบุชัดว่ามูลกรณีแห่งคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๑ ขณะที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ ยังไม่ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๑ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัว่า คดีนี้ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว กรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยนั้น เห็นว่า กรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีส่วนในการจัดทำหนังสือแบบเรียนดังกล่าวเลย หนังสือแบบเรียนตามฟ้องที่จำเลยจัดพิมพ์ขึ้นก็ระบุว่าเป็นของกระทรวงศึกษาธิการที่หน้าปกทุกเล่ม นอกจากนี้กรมการปกครองเคยขออนุญาตโจทก์พิมพ์หนังสือแบบเรียนหลายครั้ง แสดงว่ากรมการปกครอและจำเลยก็ยอมรับแล้วว่าลิขสิทธิ์ในหนังสือและแบบเรียนเป็นของโจทก์ที่ ๑ กรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงไม่มีส่วนเป็นของลิขสิทธิ์ด้วย
คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ในเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๑ นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เป็นบริษัทที่รับพิมพ์หนังสือและแบบเรียนตามฟ้องตามคำสั่งของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นกรมการปกครอง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑และจำเลยที่ ๖ ที่ ๗ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ พิมพ์หนังสือแบบเรียนดังกล่าวตามคำสั่งของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ได้ความแน่ชัดว่า ก่อนเกิดเหตุพิพาทกันในคดีนี้นั้น โจทก์ทั้งสองเคยอนุญาตให้กรมการปกครองจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๐ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เสมอมา โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ นอกจากนี้หนังสือแบบเรียนที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ พิมพ์ขึ้นนั้น ด้านหน้าก็มีข้อความระบุว่าของกระทรวงศึกษาธิการ ในหน้าแรกมีถ้อยคำว่าสำหรับแจกเด็กนักเรียนยืมเรียน ห้ามขาย ด้านหลังมีคำว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานครโทร. ๒๗๙๑๔๖๔ นายพจน์ ภู่อารีย์ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา กับในเรื่องให้ยืมหนังสือหรือแบบเรียน สำหรับข้อความที่ระบุว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง นายพจน์ ภู่อารีย์ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ในหนังสือแบบเรียนตามฟ้องทุกเล่มนั้น ชี้ให้เห็นว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นและนายพจน์ ภู่อารีย์ เป็นผู้รับผิดชอบในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนตามฟ้องทุกเล่ม แม้ความจริงหนังสือแบบเรียนเหล่านี้จะพิมพ์โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ แต่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นและนายพจน์ ภู่อารีย์ ก็ยอมตนเข้ารับผิดชอบในฐานะเป็นผู้พิมพ์เสียเอง ตามพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ย่อมเข้าใจว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น นายพจน์ภู่อารีย์ และกรมการปกครองได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้พิมพ์หนังสือแบบเรียนดังกล่าวได้ และถึงอย่างไรจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบในการพิมพ์แต่ประการใด เพราะไม่ได้พิมพ์ในนามของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ละเมิดลิขสิทธิของโจทก์ที่ ๑ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ มิได้จงใจกระทำเช่นนั้น
สำหรับจำเลยที่ ๘ และที่ ๙ นั้น ได้ความว่าจำเลยที่ ๘ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการพิมพ์ โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ ๘ มารับตำแหน่งดังกล่าว จำเลยที่ ๘ ย่อมจะต้องทราบว่าโจทก์ทั้งสองเคยอนุญาตให้กรมการปกครองจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนของโจทก์โดยให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้พิมพ์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๘ และที่ ๙ ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกจำหน่ายของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น เข้าใจว่า กรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นพิมพ์หนังสือแบบเรียนดังกล่าว มีสิทธิ์ที่จะให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นพิมพ์หนังสือแบบเรียดังกล่าวได้ และได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองเช่นที่เคยได้รับอนุญาตมา จึงมีเหตุผลให้รับฟังได้ เพราะปรากฏหลักฐานจากหนังสือแบบเรียนดังกล่าวว่าจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ กระทำโดยไม่มีพิรุธแต่อย่างใด กล่าวคือเมื่อให้จำเลยที่ ๑ พิมพ์ในปีใดก็ให้ระบุปีที่พิมพ์ตามความเป็นจริง เช่นหนังสือแบบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ชั้นประถมปีที่ ๑ เล่ม ๑ ด้านหลังก็ระบุปีที่พิมพ์ว่า ๒๕๒๑หนังสือภาษาไทย ชั้นประถมปีที่ ๑ เล่ม ๑ ก็ระบุปีที่พิมพ์ว่า๒๕๒๑ เช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นั้นกรมการปกครองไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ทั้งสองพิมพ์หนังสือแบบเรียนของโจทก์เลยข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ชัดว่าจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ไม่ทราบว่ากรมการปกครองหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่ได้รับอนุญาตให้จัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนของโจทก์ในปี ๒๕๒๑ หากจำเลยที่ ๘ ที่ ๙รู้ความจริงเช่นนั้น ก็น่าจะระบุปีย้อนหลังไป เช่น ระบุปี ๒๕๑๖ซึ่งเป็นปีที่ได้รับอนุญาต เมื่อเป็นดังนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๘ที่ ๙ ไม่ทราบว่าในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และ พ.ศ. ๒๕๒๐ กรมการปกครองหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ทั้งสองพิมพ์หนังสือแบบเรียนเช่นเดียวกัน จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ว่าจ้างจำเลยที่ ๑พิมพ์หนังสือแบบเรียนตามฟ้องคำสั่งของกรมการปกครองและองค์การบริหารส่วนจังหวัด อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๑ เพราะมิได้จงใจเช่นนั้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share