แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คดีไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาล เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำเลยมิได้อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยสูงเกินไป แสดงว่าจำเลยพอใจกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แล้ว แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยกลับมายื่นฎีกาคัดค้านว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยสูงเกินไป ถือได้ว่าข้อที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 99 เม็ด แบ่งบรรจุใส่หลอดกาแฟหลอดละ 1 ถึง 3 เม็ด แล้วใช้เทียนไขจุดไฟลนปิดหัวท้ายรวม 51 หลอด กับนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ดเตรียมไว้บรรจุหลอดกาแฟอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวรวมจำนวน 101 เม็ด น้ำหนัก 8.08 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 2 เม็ด ไม่ทราบน้ำหนัก ให้แก่ผู้มีชื่อในราคา 140 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 65, 66, 67, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 33 และริบของกลาง กับคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 25 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 28 ปี ริบของกลางและคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า จำเลยรู้สำนึกในการกระทำผิดแล้วพยายามบรรเทาผลร้ายโดยได้รับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นศาล แต่โทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนด ยังเป็นโทษที่สูง ขอให้พิจารณาลงโทษจำเลยน้อยกว่าโทษของศาลล่างทั้งสอง เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาล เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำเลยมิได้อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยสูงเกินไป แสดงว่าจำเลยพอใจกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แล้ว แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยกลับมายื่นฎีกาคัดค้านว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยสูงเกินไป ถือได้ว่าข้อที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย