แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันระบุว่าบรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าว และเอกสารใด ๆของผู้รับจำนอง หากได้ส่งไปยังสถานที่ที่ผู้จำนองระบุว่าเป็น ภูมิลำเนาของผู้จำนองตามสัญญาฉบับนี้ หรือสถานที่แห่งอื่นที่ผู้จำนองแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าผู้รับจำนองจะได้นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ไม่ว่าจะลงทะเบียนหรือไม่ และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่ก็ตามผู้จำนองยินยอมให้ถือว่า บรรดาหนังสือหรือเอกสารดังกล่าวได้จัดส่งให้แก่ผู้รับจำนองโดยชอบแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวไปให้จำเลยตามที่อยู่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยระบุไว้ในสัญญาจำนอง จึงเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้โจทก์ยังได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปให้แก่จำเลยที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยอีกด้วย การส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองถึงจำเลย ทั้งสองแห่งดังกล่าว เป็นทางการโดยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและส่งถึงสถานที่อยู่ทั้งสองแห่งแล้วเช่นนี้ ย่อมถือ ได้ว่าจำเลยได้รับและทราบหนังสือที่โจทก์บอกกล่าวบังคับ จำนอง และการที่โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายใน กำหนดอันเป็นเวลาพอสมควรก่อนที่โจทก์จะฟ้องบังคับจำนองโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 เมื่อครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตาม สัญญากู้เงินฉบับพิพาทแล้ว จำเลยผิดนัด โจทก์จึงมีหนังสือทวงถาม ให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน วันที่กำหนด อันเป็นระยะเวลาอันสมควร แสดงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากู้เงินโดยเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ดังนั้นความผูกพันที่โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มสูงขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมสิ้นสุดไปด้วยภายในวันที่กำหนดและปรากฏว่าในวันที่ดังกล่าวตามประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อที่โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น ดังนี้โจทก์หาอาจจะอ้างประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้ สินเชื่อในขณะฟ้องคดีที่ให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเรียกร้องเอาจากจำเลยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 ต่อปี ได้ไม่เพราะเงื่อนไขให้สิทธิแก่โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญากู้สิ้นผลไปก่อนแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 93,904.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ในต้นเงิน 62,874.18 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนขอให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2253 ตำบลน้ำริด อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้นำทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์62,874.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า คำบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามข้อเท็จจริงจะได้ความว่าหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับส่งให้จำเลยไม่ได้ เพราะเหตุที่จำเลยย้ายที่อยู่แล้วก็ตาม แต่ในการติดต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 8 ระบุว่า “บรรดาหนังสือ จดหมายคำบอกกล่าว และเอกสารใด ๆ ของผู้รับจำนอง หากได้ส่งไปยังสถานที่ที่ผู้จำนองระบุว่าเป็นภูมิลำเนาของผู้จำนองตามสัญญาฉบับนี้หรือสถานที่แห่งอื่นที่ผู้จำนองแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าผู้รับจำนองจะได้นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ไม่ว่าจะลงทะเบียนหรือไม่ และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่ก็ตาม ผู้จำนองยินยอมให้ถือว่า บรรดาหนังสือหรือเอกสารดังกล่าว ได้จัดส่งให้แก่ผู้รับจำนองโดยชอบแล้ว” ดังนั้น การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวไปให้จำเลยตามที่อยู่บ้านเลขที่ 140/8หมู่ที่ 5 ตำบลป่าแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยระบุไว้ในสัญญาจำนอง จึงเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้นอกจากนี้ยังได้ความว่า โจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 236 ถนนแสงชูโตตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามสำเนาทะเบียนราษฎร์เอกสารหมาย จ.16 อีกด้วยและจากข้อมูลตามเอกสารหมาย จ.16 ปรากฏว่าจำเลยยังมิได้แจ้งย้ายออกไปอยู่แห่งใด การส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองถึงจำเลยทั้งสองแห่งดังกล่าว โจทก์ส่งเป็นทางการโดยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและส่งถึงสถานที่อยู่ทั้งสองแห่งตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2539 แล้วเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้รับและทราบหนังสือที่โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 2 กันยายน 2539 เป็นเวลาพอสมควรก่อนที่โจทก์จะฟ้องบังคับจำนองโดยชอบแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงร้อยละ 19 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ เพราะอัตราดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องไม่ใช่เบี้ยปรับเมื่อจำเลยผิดนัดที่ศาลจะใช้ดุลพินิจลดได้ตามสมควร หากเห็นว่ากำหนดไว้สูงเกินส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และ 383 แต่เป็นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิที่จะเพิ่มสูงขึ้นได้ไม่เกินกว่าประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ร้อยละ 19 ต่อปี ตามคำพิพากษานั้นศาลชั้นต้นมิได้เห็นว่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องอัตราร้อยละ 25 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับเพราะเหตุที่จำเลยผิดนัดและสูงเกินส่วนที่ให้ลดลงได้พอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 และ 383 ดังเช่นที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด แต่คงเห็นว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยตามปกติที่โจทก์ปรับเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้นได้ตามสัญญาเมื่อมีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยนั้นเอง เป็นแต่ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในวันที่ 22 กันยายน 2538 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หลังจากนั้นจำเลยก็ผิดนัด จึงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2538 เป็นต้นไปเท่านั้น ซึ่งตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 มกราคม 2541 แต่จำเลยผิดนัดและต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองภายในวันที่ 2 กันยายน 2539 ตามเอกสารหมาย จ.13 แสดงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากู้เงินเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ดังนั้นความผูกพันที่โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มสูงขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยก็ย่อมสิ้นสุดไปด้วยภายในวันที่ 2 กันยายน 2539 ซึ่งตามประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 ที่โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้น โจทก์หาอาจจะอ้างประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 ที่ให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเรียกร้องเอาจากจำเลยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 ต่อปี ได้ไม่ เพราะเงื่อนไขให้สิทธิแก่โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญากู้สิ้นผลไปก่อนแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยได้อัตราร้อยละ 19 ต่อปีนั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2253 ตำบลน้ำริด อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้นำทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น