แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ขณะจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดอันเป็นการแสดงว่าร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลยที่ 1 ยังใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอีก ถือเป็นการกระทำโดยลำพังของจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในทันทีทันใด ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูต้นทางในขณะที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนี้ไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามฆ่าผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นและยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง
ป.อ. มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมปล้นทรัพย์จะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้มีหรือใช้อาวุธปืนด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 289, 340, 340 ตรี, 371, 376 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) ประกอบมาตรา 80 มาตรา 340 วรรคสี่, 340 ตรี ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 371, 376 ทุกฐานความผิดประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นกับฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงและใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดและฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิตเพียงสถานเดียว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพบางฐานความผิดในชั้นสอบสวนและทางนำสืบ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ริบอาวุธปืนกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน และหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นและฐานร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) ประกอบมาตรา 80 และ 83 มาตรา 376 ประกอบมาตรา 83 และไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 คงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงและใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี และ 80 จำคุกคนละ 15 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กึ่งหนึ่งและหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ตามลำดับ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 3 จำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 15 เดือน จำเลยที่ 3 จำคุก 10 ปี 12 เดือน สำหรับจำเลยที่ 1 ก่อนรวมโทษเมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 เป็นรายกระทง กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้วลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรจำคุก 3 เดือน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น จำคุก 25 ปี รวมทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงกันฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำของนายพรชัย ผู้เสียหาย และใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย กระสุนปืนถูกที่แขนขวาของผู้เสียหาย 1 นัด อีกนัดหนึ่งผู้เสียหายก้มหลบข้างรถเข็น กระสุนปืนถูกขวดใส่น้ำหวานบนรถเข็นแตก โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูต้นทาง ส่วนสร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายขาดและตกที่พื้นถนน สำหรับความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร และฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงและใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด และความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง และฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน คู่ความไม่ฎีกาจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นและฐานยิงปืนซึ่งใช้ระเบิดโดยใช่เหตุในเมืองหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนางวีณาเป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายกำลังเข็นรถขายน้ำแข็งใสเข้าบ้าน จำเลยที่ 1 เข้ามาด้านหลังผู้เสียหายแล้วกระชากเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายซึ่งสวมที่คอ และใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกที่ต้นแขนขวา ผู้เสียหายวิ่งหนีรอบรถเข็น จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอีก 1 นัด ผู้เสียหายก้มลงหลบทัน กระสุนปืนถูกขวดใส่น้ำหวานที่วางอยู่บนรถเข็นแตกเสียหาย นางวีณาตะโกนว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจมา จำเลยที่ 1 จึงหลบหนีไป เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดอันเป็นการแสดงว่าร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลยที่ 1 ยังใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอีก เป็นการกระทำโดยลำพังของจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในทันทีทันใดนั้นเอง เพียงแต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูต้นทาง ขณะที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามฆ่าผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น และยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมปล้นทรัพย์จะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 มีและใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้มีหรือใช้อาวุธปืนด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนตามมาตรา 340 ตรี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน