คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3610/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงและใช้มีดฟันผู้เสียหายทั้งสี่ เบิกความมีรายละเอียดรวมทั้งอธิบายสาเหตุที่มีเรื่องทะเลาะวิวาท และเหตุการณ์ขณะผู้เสียหายที่ 1 ถูกยิง ผู้ที่ยิง ผู้ที่ร่วมในเหตุการณ์ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสาม ว่ากระทำอะไรบ้างตรงกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ พยานโจทก์อยู่หมู่บ้านเดียวกับจำเลยทั้งสามรู้จักกันมานานแล้ว โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 3 รู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จำเลยทั้งสามเบิกความรับว่า ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์จะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยทั้งสาม และตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุระบุว่า มีรอยเลือดตกอยู่เป็นจำนวนมากที่หน้าร้านอาหาร ห่างหน้าร้านเพียง 2 เมตร ที่หน้าร้านมีหลอดไฟฟ้าติดตั้งอยู่ 1 หลอด และจุดที่พบปลอกกระสุนปืนแม้จะมีหลายจุด แต่มีอยู่ 2 ปลอกที่พบบริเวณหน้าร้านใกล้กับบริเวณที่มีรอยเลือด แสดงว่าเหตุเกิดบริเวณหน้าร้านอาหาร เชื่อว่ามีแสงสว่างมองเห็นได้ พยานโจทก์จึงสามารถมองเห็นและจำจำเลยทั้งสามได้โดยไม่ผิดพลาด พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง การอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสามไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะหักล้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนและมีด ยิงและฟันผู้เสียหายทั้งสี่
ปืนเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำอันตรายต่อชีวิตได้ จำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายที่ 1 บริเวณอวัยวะสำคัญ แสดงว่ามีเจตนาฆ่า แต่แพทย์รักษาไว้ทันท่วงที จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมมาในที่เกิดเหตุในลักษณะพร้อมจะเข้าร่วมกระทำความผิดและได้เข้าร่วมกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 3 ส่งอาวุธปืนให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้มีดฟันที่ศีรษะผู้เสียหายที่ 2 ในขณะเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นตัวการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 32, 91, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่า จำคุกคนละ 12 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นจำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 12 ปี 12 เดือน ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้อาวุธปืนและมีดยิงและฟันผู้เสียหายทั้งสี่ กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่ชายโครงขวา ทะลุปอดและเข้าไปในช่องท้องทะลุออกบริเวณกลางหลังตรงบั้นเอวและท้องแขนด้านขวา ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบนศีรษะด้านหลัง ผู้เสียหายที่ 3 มีบาดแผลเป็นรอยกระสุนปืนที่แขนทั้งสองข้าง มีรูเข้าตรงแขนด้านนอกออกต้นแขนด้านใน ส่วนผู้เสียหายที่ 4 มีรอยถูกยิงที่โคนนิ้วชี้ข้างซ้าย ทำให้กระดูกหัก ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสี่ นายสามารถ นายอรุณ นางมุรีย๊ะ ซึ่งเป็นพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงและใช้มีดฟันผู้เสียหายทั้งสี่มาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า ผู้เสียหายทั้งสี่กับจำเลยทั้งสามอยู่หมู่บ้านเดียวกันรู้จักกันมานานแล้ว ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน หลังจากกลุ่มผู้เสียหายมีเรื่องทะเลาะกับกลุ่มจำเลยแล้ว แต่มีผู้ห้ามปรามต่างแยกย้ายกลับไปที่เดิม ต่อมาจำเลยทั้งสามเดินเข้ามาบริเวณที่ผู้เสียหายกับพวกใช้เสื่อปูรองนั่งเพื่อรับประทานอาหาร โดยมีพวกของจำเลยทั้งสามเดินตามมาอีกประมาณ 6 ถึง 7 คน จำเลยที่ 2 ถือมีดพร้าความยาวรวมด้าม 60 เซนติเมตร มาด้วย จำเลยที่ 1 พูดว่า “เย็ดแม่ตัวไหนสู้ ตัวไหนหรอย (เก่ง) ลุกขึ้นมา” ผู้เสียหายที่ 3 กับนางมุรีย๊ะเข้าไปห้ามปราม ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ลุกขึ้นพูดว่า อย่าด่ากันเราไม่มีเรื่องอะไรกัน จำเลยที่ 3 ส่งอาวุธปืนให้จำเลยที่ 1 พูดว่า ใครใหญ่ให้ยิง จำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายที่ 1 หลายนัดกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ได้รับบาดเจ็บด้วย เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถูกยิงล้มลง ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปยกร่างของผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นมา จำเลยที่ 2 ก็ใช้มีดฟันผู้เสียหายที่ 2 ถูกที่ศีรษะ 1 ครั้ง ผู้เสียหายที่ 2 ต้องปล่อยผู้เสียหายที่ 1 แล้วถอยออกมา เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความมีรายละเอียดรวมทั้งอธิบายสาเหตุที่มีเรื่องทะเลาะวิวาท และเหตุการณ์ขณะผู้เสียหายที่ 1 ถูกยิง ผู้ที่ยิง ผู้ที่ร่วมในเหตุการณ์ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามว่ากระทำอะไรบ้างตรงกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ พยานโจทก์ดังกล่าวอยู่หมู่บ้านเดียวกับจำเลยทั้งสาม รู้จักกันมานานแล้ว โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 3 รู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จำเลยทั้งสามเบิกความรับว่า ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์จะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยทั้งสาม ส่วนปัญหาว่าที่เกิดเหตุจะมีแสงสว่างเพียงพอเพื่อจะสนับสนุนว่าพยานโจทก์เบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนได้โดยไม่ผิดพลาดหรือไม่นั้น เห็นว่าตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ. 5 ระบุว่า มีรอยเลือดตกอยู่เป็นจำนวนมากที่หน้าร้านอาหารห่างหน้าร้านเพียง 2 เมตร ที่หน้าร้านมีหลอดไฟฟ้าติดตั้งอยู่ 1 หลอด และจุดที่พบปลอกกระสุนปืนแม้จะมีหลายจุด แต่มีอยู่ 2 ปลอกที่พบบริเวณหน้าร้านใกล้กับบริเวณที่มีรอยเลือด แสดงว่าเหตุเกิดบริเวณหน้าร้านอาหารเชื่อว่ามีแสงสว่างมองเห็นได้ พยานโจทก์จึงสามารถมองเห็นและจำจำเลยทั้งสามได้โดยไม่ผิดพลาด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง พยานอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสามไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะหักล้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนและมีดยิงและฟันผู้เสียหายทั้งสี่ ปืนเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำอันตรายต่อชีวิตได้ จำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายที่ 1 บริเวณอวัยวะสำคัญ แสดงว่ามีเจตนาฆ่า แต่แพทย์รักษาไว้ทันท่วงที จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมมาในที่เกิดเหตุในลักษณะพร้อมจะเข้าร่วมกระทำความผิดและได้เข้าร่วมกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 3 ส่งอาวุธปืนให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้มีดฟันที่ศีรษะผู้เสียหายที่ 2 ในขณะเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นตัวการ ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share